Cheat-Pledge-Money-For-Buy-Car

เดี๋ยวนี้ การจะซื้อรถยนต์ในโลกออนไลน์สักคันนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าสมัยก่อนมากๆ ที่ต้องอาศัยการดูจากในนิตยสารเป็นหลัก ซึ่งแทบทั้งหมดลงขายก็มีแค่รูปเดียว แถมยังต้องโทรศัพท์นัดเพื่อไปดูรถอีก ถ้าดูแล้วไม่ถูกใจก็เสียเวลาไป

ก่อนจะเข้ามาสู่ยุคดอทคอม ที่ต้องไปส่องหาคนประกาศขายตามเว็บบอร์ดต่างๆ เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในด้านรายละเอียดและรูป จนมาถึงในยุคปัจจุบัน ทีแค่เข้าโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์รถยนต์ต่างๆ ก็มีให้มาให้เลือก จนดูกันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว และยังสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายมาก เมื่อดูจากภาพประกอบมากมาย หรือ Clip VDO ที่ผู้ขายนำเสนอ

แต่กระนั้น ก็ยังเป็นช่องทางที่เหล่ามิจฉาชีพ ใช้แฝงตัวในการหากินด้วยเช่นกัน เช่น การหลอกให้โอนเงินมัดจำมาก่อน หรือการตั้งราคารถที่ดูสวนทางกับสภาพรถ โดยราคามักจะมีราคาที่ถูกมากจนผิดสังเกต ซึ่งบางคนก็อ้างว่าร้อนเงิน ต้องใช้เงินด่วน

และบางคนยังขโมยรูปรถของคนอื่น มาทำทีเป็นการหลอกขายรถเพื่อเอาเงินมัดจำก็มี หรือนัดดูรถแล้วบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมเจอกันก็มี ก็จะบล๊อคทั้งไลน์ ทั้ง Facebook! ให้เจ็บใจเปล่าๆ

MR.CARRO จะมาเล่าให้ฟัง ว่าโอนเงินมัดจำรถไปแล้วโดนโกง ต้องทำอย่างไรถึงได้เงินคืน

Cheat-Pledge-Money-For-Buy-Car

1. ดูอย่างไร ว่าคนขายไม่โกง?

การตรวจสอบประวัติผู้ขาย เป็นที่ควรทำ ก่อนจะตัดสินใจซื้อของอะไรสักอย่างในโลกออนไลน์ หรือในโซเชียลมีเดีย ถ้าเป็นการขายรถในกลุ่ม Facebook อาจจะลองถามสมาชิกในกลุ่มดูว่า คนนี้ขายรถมีตัวตนจริง ขายจริงหรือไม่ แสดงราคาขายชัดเจนหรือเปล่า ไม่ใช่ให้ Inbox ถามอย่างเดียว

เช็คดู Profile ว่าใช้งานมายาวนานหรือยัง ถ้าหากเป็นมิจฉาชีพ มักใช้ Facebook เป็นชื่อนามแฝง ไม่ใช้รูปตัวเองเป็นรูปโปรไฟล์ หรือเอารูปคนอื่นมาเป็นรูปโปรไฟล์ หรือ Facebook อาจจะเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ไม่นานนัก เป็นต้น

ส่วนตามเว็บไซต์ขายรถ ก็อาจจะเช็คกับทางผู้ให้บริการดู ว่าชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์นี้ เคยมีอยู่ใน Blacklist ของทางเว็บไซต์หรือไม่

เข้า Google หรือ Blacklistseller.com พิมพ์ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทร เลขบัญชี หรือชื่อบัญชี ดูว่ามี Feedback มาในทางใดบ้าง หากเป็นมิจฉาชีพ ที่มีประวัติเคยฉ้อโกง คุณอาจพบคนประจาน หรือมีข่าวของผู้ขายชื่อนี้ แต่หากไม่พบข้อมูลอะไร ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ขายรายนี้ไม่ได้เป็นมิจฉาชีพนะ แต่ก็ต้องลองดู

ทางที่ดี นัดเจอแล้วดูรถก่อนจ่ายเงินมัดจำ หรือจ่ายเงินทั้งหมด จะดีกว่า รับรองปลอดภัยมากที่สุด

Buy-Secondhand-Car-Oldyear-Or-Newyear

2. แต่ถ้าโดนโกงไปแล้วล่ะ จะทำอย่างไรดี

รวบรวมหลักฐานที่เราติดต่อกับคนขายรถไว้ทั้งหมด แล้วพิมพ์เป็นเอกสารออกมา เช่น

  • หน้าเว็บไซต์ หรือหน้า Facebook ที่ขายของ รูปโปรไฟล์ของผู้ขายรถ
  • ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขที่บัญชีของผู้ขายรถ
  • ข้อความในแชทที่เราพูดคุยกับคนขาย ไม่ว่าจะเป็นการสอบถาม สั่งซื้อ การโอนเงินมัดจำ หรือจ่ายเงินค่ารถยนต์ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นใน LINE, Facebook หรือ Instagram
  • หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี เช่น สลิป, ใบนำฝาก
  • สมุดบัญชีธนาคาร
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเรา

แจ้งความ

นำหลักฐานทั้งหมด เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ (สน. ที่คุณไปโอนเงิน) ภายใน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกโกง โดยระบุว่าต้องการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีจนกว่าจะถึงที่สุด ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวัน

หรือจะเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ก็ได้ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีในการติดตามหาตัวคนร้ายได้รวดเร็วขึ้น

แต่การแจ้งความที่ ปอท. เราอาจจะต้องเดินทางมาขึ้นศาลที่กรุงเทพฯ ถ้าหากต่างจังหวัดอาจไม่สะดวกในการมาติดต่อนัก หากคุณอยู่ต่างจังหวัด แจ้งความกับตำรวจท้องที่จะสะดวกกว่า หรือบางเรื่อง ปอท. อาจโอนคดีไปให้ตำรวจท้องที่ดำเนินการเพื่อความสะดวกเช่นกัน

หลังจากแจ้งความแล้ว พนักงานสอบสวนจะส่งหมายเลขบัญชี ให้ธนาคารตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของบัญชีตัวจริง หรือสวมบัตรประจำตัวประชาชนคนอื่น รวมทั้งตรวจสอบหลักฐานการกดเงิน ความเคลื่อนไหวทางบัญชีต่าง ๆ และอีกทางหนึ่งก็คือการตรวจสอบทะเบียนราษฎรเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมตรวจสอบเลข IP Address จากนั้นจะออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาสอบปากคำ ก่อนจะดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมายต่อไป

กรณีโอนเงินมัดจำ หรือจ่ายเงินเพื่อซื้อรถไปแล้ว มีความผิดตามข้อหา “ฉ้อโกง”

Buy-Secondhand-Car-Oldyear-Or-Newyear

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกหรือแจ้งให้ทราบ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มีอายุความ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด)

และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 นำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (มีอายุความ 10 ปี)

แม้ว่าโอกาสได้เงินคืนอาจจะยาก เพราะคนร้ายมักจะถอนเงินออกไปทันที แต่ถ้าหากตามตัวโจรได้ โจรอาจเจรจาไกล่เกลี่ยคืนเงินหรือชดใช้เงินให้เพื่อแลกกับการถอนแจ้งความและยุติคดี ซึ่งกรณีนี้สามารถทำได้ เพราะคดีฉ้อโกงสามารถยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ยกเว้นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน)

แต่หากคนร้ายไม่ยอมคืนเงิน หรือไม่มีเงินคืน ก็จะต้องรอจนศาลพิพากษาคดี จึงจะมีโอกาสได้เงินคืน

หากใครถูกโกง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองปราบปราม หรือที่ กองกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่เว็บไซต์ tcsd.go.th หรือโทร. 02-1438447, 02-1438763

แหล่งที่มาบางส่วนจาก: