Shopping-Tire-For-Nation

ช็อปช่วยชาติ 2561 – 2562 เลือกยางรถยนต์แบบไหน ถึงจะได้ลดหย่อนภาษี

สินค้า-ช็อปช่วยชาติ

เป็นที่รู้กันละครับว่า เศรษฐกิจตอนนี้ มันช่างฝืดเคืองเสียยิ่งกะไร การจับจ่ายใช้สอยก็ไม่คล่องตัวเอาซะเลย รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จึงต้องหามาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นก็คือ “ช็อปช่วยชาติ” ที่ทำต่อเนื่องกันมาหลายปี

โดยในปีนี้ เริ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 2561 – 16 ม.ค. 2562 ซึ่งปีนี้เงื่อนไขการซื้อของ มีการเปลี่ยนแปลงต่างจากปีที่แล้วมากพอสมควร มีอะไรบ้าง เรามาดูกัน …

Tire

เงื่อนไขแรก การซื้อสินค้าตั้งแต่วันที่ 15 – 31 ธันวาคม 2561 ใช้ลดหย่อนภาษีปี 2561 เท่านั้น หากคุณซื้อสินค้าบริการตั้งแต่ 1 มกราคม – 16 มกราคม 2562 ใช้ลดหย่อนภาษีปี 2562 (สามารถใช้สิทธิ์เพียงปีใดปีหนึ่ง 15,000 บาท หรือเลือกใช้สิทธิทั้ง 2 ปีภาษีรวมกัน แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท)

เงื่อนไขที่สอง ปีนี้กำหนดสินค้าเอาไว้แค่ 3 หมวด เท่านั้น ได้แก่ ยางรถยนต์, หนังสือ (รวม E-Book) และสินค้า OTOP (โอทอป) อย่างอื่นไม่ร่วมด้วยนะครับ

ทีนี้ เรามาดูกันว่า จะเลือกยางรถยนต์อย่างไร ให้ได้ลดหย่อนภาษีคืน และคุ้มค่าเงินคุณ …

ซื้อยางรถยนต์แบบไหน ถึงจะได้ลดหย่อนภาษี?

คูปองยาง-ช็อปช่วยชาติ

คูปองยาง สำคัญ! ถ้าไม่มี ลดหย่อนภาษีไม่ได้!

ต้องเป็นยางรถยนต์, ยางรถจักรยานยนต์, ยางจักรยาน หรือยางประเภทใดก็ได้ ที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น และต้องเป็นยางที่มีส่วนผสมยางพาราภายในประเทศเท่านั้น และต้องซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้ซื้อวัตถุดิบยางจากการยางแห่งประเทศไทย

โดยยางที่เข้าข่ายลดหย่อนภาษีนั้น ต้องมีคูปองจากสรรพากรมาพร้อมกับยางด้วย จำไว้เลยนะครับว่า ถ้าไม่มีคูปอง คุณจะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งคูปอง 1 ใบ ต่อล้อยาง 1 เส้น โดยค่าบริการเปลี่ยน หรือซ่อมยางรถยนต์ ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

สำหรับยางรถยนต์ และยางรถจักรยานยนต์ จริงๆ แล้ว เกือบทุกยี่ห้อผลิตในประเทศไทย แต่จะมีแค่ยี่ห้อ Otani, Maxxis, Deestone, ND Rubber และ IRC เท่านั้น ที่เข้าร่วมในโครงการ “ช็อปช่วยชาติ” นี้

ตารางลดหย่อนภาษี-ช็อปช่วยชาติ

เงินได้สุทธิ, อัตราภาษี และค่าลดหย่อน (ภาพจาก https://taxteller.blogspot.com/)

หลักฐานที่ใช้ยื่นลดหย่อนภาษี

คุณต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฏากร ซึ่งจะต้องมีการระบุข้อความดังนี้

1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” ต้องเห็นได้เด่นชัด

2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี

3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือ ของบริการให้ชัดแจ้ง

7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด เช่น คำว่าเอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ

กรมสรรพากร-ช็อปช่วยชาติ

ถ้าหากใครที่กำลังจะเปลี่ยนยางรถยนต์ในช่วงนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี แต่ก็ต้องเลือกยางรถยนต์ที่อยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดด้วยนะครับ เดี๋ยวเลือกผิดไป หรือเลือกร้านที่ไม่ได้ร่วมกับทางช็อปช่วยชาติ ไม่ได้ลดหย่อนภาษีคืนนะครับ จะบอกให้ …

สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร. 1161 หรือที่ http://www.rd.go.th/ กรมสรรพากร เต็มที่ เต็มใจ ให้ประชาชน