King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นอกจากจะทรงเปี่ยมล้นไปด้วยพระอัจฉริยภาพหลากหลายด้าน อาทิเช่น ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยาน และทรงสนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ รวมไปถึงในด้านรถยนต์ และเครื่องยนต์กลไกอีกด้วย

King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

“รถยนต์” ก็เป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 10 ท่านทรงโปรดปรานอยู่มาก ทั้งที่เป็นรถยนต์องค์จริงๆ ที่ทรงใช้งานส่วนตัว และทรงรับช่วงต่อมาจากพระราชบิดา ซึ่งทรงได้โปรดให้มีการเก็บรักษารถยนต์พระที่นั่ง และรถยนต์ส่วนพระองค์ ไว้ที่พิพิธภัณฑ์รถยนต์พระที่นั่งโบราณ ณ วังศุโขทัย

King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

และสำหรับรถคันน้อยๆ หรือ “โมเดลรถ” ก็เป็นหนึ่งของสะสม ที่พระองค์ทรงชื่นชอบและโปรดปรานมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์เช่นกัน ทรงเก็บอย่างเป็นระเบียบ มีตั้งแต่รถเก๋งเปิดประทุน รถยนต์หลากยี่ห้อ รถจี๊ป รถมอเตอร์ไซค์ รถทหารปิดและเปิดประทุน รถม้า รถลาก รถตำรวจ กระทั่งรถผสมปูน รถพยาบาล เป็นต้น

ครั้งหนึ่งทรงให้พระราชทานสัมภาษณ์ถึงรถเล็กๆ เหล่านี้ ลงในนิตยสารดิฉัน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 พระองค์ทรงมีพระราชกระแสถึงความชอบส่วนพระองค์ว่า

“ชอบรถกับเครื่องบินแต่รถนี่ชอบมากกว่า”

King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

เหตุผลที่พระองค์ทรงชอบสะสมรถเล็กนั้นเพคะ

“ตอนเด็กๆ ชอบเครื่องยนต์กลไก แล้วมันก็เป็นการแสดงวัฒนธรรมและพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง ของเล่นเมื่อเด็กๆ เท่าที่ยังเหลืออยู่คือของเล่นสมัยนี้ก็มี แต่มันไม่เหมือนของเล่นเมื่อ 20 ปีก่อน มันก็เป็นไปตามสิ่งแวดล้อม”

King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

พระองค์ทรงมีรถเล็กๆ ที่สะสมไว้สักกี่คันเพคะ

“มีเป็นร้อย”

King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

ทรงจำได้ไหมเพคะว่า คันไหนเป็นคันแรก

“ก็จำได้ว่ารุ่นไหนเป็นรุ่นแรก จำได้ว่าใคร ตอนเด็กๆ คนเขาให้ พอโตก็ซื้อเอง เวลาไปเมืองนอกก็ซื้อ ปัจจุบันก็ยังซื้อ ซื้อรถ ซื้อเครื่องบินหรืออะไรเล็กๆ ที่มันน่ารัก อะไรที่มันมีศิลปมีความละเอียดก็สะสม ก็ซื้อเวลาไปเมืองนอก”

King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

เมื่อทรงพระเยาว์ทรงโปรดรถคนไหนมากที่สุดเพคะ

“ตอนเด็กๆ ชอบรถคันนี้ เป็นรถสปอร์ตเปิดประทุนยี่ห้อ MG มันมาพร้อมๆ กับรถจริง คือรถ MG รุ่นนี้เหมือนกัน สมัยก่อนถ้าเขาออกรถใหม่เขาก็จะทำรถคันเล็กๆ ออกมาด้วย ส่วนคันนี้เป็นเบนซ์ 300, 1995 ผู้ใหญ่มีเราก็มีบ้างแต่เป็นรถคันเล็กๆ ที่มีประตูเปิดปิดข้าง รถรุ่นหลักประตูเปิดไม่ได้ รถเบนซ์บางคันดินน้ำมันเกาะเต็มไปหมดเป็นเบนซ์ช้ำเลือดช้ำหนองและทาสีซ้ำอีก แล้วรถตำรวจนี่เขียนเบอร์เองยังอยู่”

King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

King-Rama-10-Diecast-Model-Cars

ทรงเปลี่ยนความโปรดไปเรื่อยๆ เป็นยุคๆ ไหมเพคะ

“ไม่ค่อยเปลี่ยน รถเดี๋ยวนี้ยังชอบเหมือนเดิมแต่มาเล่นของจริง ของเก่าก็ยังชอบอยู่ สมัยก่อนชอบรถโฆษณา รถคอมเมอร์เชียลอะไรพวกนี้มันน่ารักดี รถทหารเปิดประทุนรุ่นนี้เป็นรุ่นแรก ผู้ใหญ่เขาเสียดาย เขาเก็บ กลัวพังถามทำไมไม่ให้เล่น เขาบอกถ้าโตแล้วจะเก็บไว้เป็นตัวอย่าง รถผสมซีเมนต์นี่ก็รุ่นแรก พวกคันเล็กๆ เหล็กๆ รุ่นแรก นี่รุ่นหลังเห็นไหมมีสแว๊บกี้สำหรับคนหนุ่มคนสาว”

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก บทพระราชทานสัมภาษณ์ นิตยสารดิฉัน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2529

King-Rama-10-Royal-Cars

ในช่วงแห่งการเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นับเป็นช่วงแห่งความปลื้มปิติของเหล่าพสกนิกรชาวไทย ในการขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

และเนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดด้านการทหารและการบินเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบิน ซึ่งพระองค์ทรงใฝ่รู้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และในส่วนของรถยนต์และเครื่องยนต์กลไก พระองค์ก็ทรงโปรดมากๆ เช่นเดียวกัน

CARRO จึงขอนำเสนอถึง “รถยนต์พระที่นั่ง” ของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เท่าที่ค้นหามาได้ ให้ทุกท่านได้รับชมกันครับ

Daimler-DE36

1. Daimler DE36

Daimler DE36 (เดมเลอร์ ดีอี36) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรำลึกถึงพระราชบิดา ด้วยการทรงนำรถยนต์พระที่นั่ง Daimler DE36 Landaulette มีเลข Chassis เลขตัวถัง 51747 ส่วนตัวถังรถผลิตโดย Hooper แห่ง Westminster ซึ่งผลิตด้วยมือ เป็นรุ่นฐานล้อยาว มีกระจกแบ่งระหว่างคนขับและผู้โดยสาร ใช้เครื่องยนต์แบบ V8 ขนาด 5.5 ลิตร 150 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์กึ่งอัตโนมัติแบบคันบังคับไฟฟ้า 4 สปีด

ซึ่งเป็นรถยนต์พระที่นั่ง “อย่างเป็นทางการ” คันแรกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (หมายเลขทะเบียน “ร.ย.ล. 1”) กลับมาประจำการในฐานะรถยนต์พระที่นั่งทรงอีกครั้งในรอบ 40 กว่าปี หลังจากปลดประจำการ

Delahaye-GFA-180

2. Delahaye G.F.A. 180

Delahaye G.F.A. 180 (เดอลาเฮย์ จีเอฟเอ 180) ปี 1953 เดิมเป็นรถพระที่นั่งของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ แต่ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำออกมาใช้งานในพิธีต่างๆ บ้าง

ผลิตเมื่อปี 2496 ตัวถังแบบลีมูซีน (หมายเลขแชสซีส์ 825018) ตัวถังผลิตโดย Henri Chapron (หมายเลขตัวถัง 6961) ตัวรถผลิตโดย Société Des Automobiles Delahaye มีหน้าต่างกระจกกั้นพระที่นั่งตอนหน้า และตอนหลัง กระจกหน้าต่างแบบไฮดรอลิก และหน้าต่างรับแดด (ซันรูฟ) บนหลังคา ส่งกำลังผ่านเกียร์ 4 สปีด

Rolls-Royce-Phantom-Limousine-De-Ville

3. Rolls-Royce Phantom Limousine De Ville

Rolls-Royce Phantom Limousine De Ville (โรลส์-รอยซ์ แฟนทอม ลิมูซีน เดอวิลล์) ปี พ.ศ. 2482 (หมายเลขแชสซีส์ 3DL 158) ผลิตที่โรงงานโรลส์-รอยส์ ในเมืองดาร์บี ใช้เครื่องยนต์แบบ V12 (หมายเลขเครื่อง W98 H) มีจานจ่าย 2 ชุด ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีด

ลงเรือที่เซาท์แธมตัน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2482 เจ้าของเดิมคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ต่อมา สมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำออกมาใช้งานในพิธีต่างๆ บ้าง

Volvo-264-TE

4. Volvo 264 TE

Volvo 264 TE (วอลโว่ 264 ทีอี) รุ่นนี้ ออกแบบโดย “Bertone” เครื่องยนต์รหัส B27E ขนาด 2.7 ลิตร แบบ V6 OHC ให้แรงม้าสูงสุด 140 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 21.0 กก.-ม. ที่ 3,000 รอบ/นาที ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด ทำความเร็วได้กว่า 165 กม./ชม.

บริษัท สวีเดนมอเตอร์ส จำกัด มอบหมายให้นายวันนิวัติ ศรีไกรวิน และนางจุไรรัตน์ ศรีไกรวิน เป็นผู้แทนของบริษัทฯ น้อมเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ป้ายทะเบียน ร.ย.ล. 14

Mercedes-Benz-450-SEL-6.9

5. Mercedes-Benz 450 SEL 6.9

Mercedes-Benz 450 SEL 6.9 (เมอร์เซเดส-เบนซ์ 450 เอสอีแอล 6.9) รถยนต์พระที่นั่ง ป้ายทะเบียน ร.ย.ล. 10 (ปัจจุบัน ทะเบียน 1ด-0106 กรุงเทพมหานคร)

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงอภิเษกสมรส กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ในวันพระราชพิธีอภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานรถยนต์ Mercedes-Benz 450 SEL 6.9 เครื่องยนต์ขนาด 6.9 ลิตร เป็นของขวัญ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โปรดรถพระราชทานคันนี้มาก ในระหว่างทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทรงขับรถคันนี้ เสด็จพระราชดำเนินต่างจังหวัดอยู่เสมอ ทรงขับจากกรุงเทพฯ ถึงนราธิวาส และจากกรุงเทพฯ ถึงอุดรธานี พิษณุโลก และ ลำปาง

Rolls-Royce-Corniche-Convertible

6. Rolls-Royce Corniche Convertible

Rolls-Royce Corniche Convertible (โรลส์-รอยซ์ คอร์นิช คอนเวอร์ติเบิ้ล) เป็นรถที่พสกนิกรหลายท่านคุ้นตาในอดีต เพราะเป็นรถที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ใช้ทรงงานมากที่สุดอีกรุ่น แต่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีใช้งานด้วยเช่นกัน

Rolls-Royce-Silver-Spur-Limousine

7. Rolls-Royce Silver Spur Limousine

Rolls-Royce Silver Spur (โรลส์-รอยซ์ ซิลเลอร์ สเพอร์) นับเป็นรถลิมูซีน ที่คุ้นตาพสกนิกรมากที่สุดอีกหนึ่งรุ่น เพราะใช้ในงานพระราชพิธีบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นรถประจำของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ และเป็นหนึ่งในรถยนต์พระที่นั่ง ที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับนั่งเป็นประจำ

ขอขอบคุณภาพจาก

King-Rama-5-Royal-Cars

23 ตุลาคม ปิยมหาราชรำลึก

Rama-5-Opening-of-the-Railway-Line

วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติ และเป็นวันที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เป็นวันระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงประชวรและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ปวงชนชนทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ จึงได้ถวายพระนามว่า “พระปิยมหาราช” หรือ “พระพุทธเจ้าหลวง”

และเป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงประเทศสยามให้มีความทันสมัยขึ้นอย่างมากมาย ทั้งในด้านไฟฟ้า ประปา ไปรษณีย์ การสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ระหว่างกรุงเทพฯ และนครราชสีมา การสร้างสะพาน ขุดคลอง ตัดถนน การพยาบาล การแพทย์ ฯลฯ

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

ย้อนกลับไปในปี 2444 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงประชวรต้องเสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะประทับรักษาพระองค์ ณ ที่นั้น ได้ทรงสั่งซื้อรถยนต์คันหนึ่ง เป็นรถเดมเลอร์เบนซ์ ซึ่งถือเป็นรถชั้นเยี่ยมที่สุดขณะนั้น

ทรงซื้อรถคันดังกล่าวจากมองซิเออร์ เอมีเล เจลลีเนค (Emil Jellinek) ผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถเดมเลอร์เบนซ์ในประเทศฝรั่งเศส ต่อมาภายหลังรถยนต์เดมเลอร์เบนซ์ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “เมอร์เซเดส-เบนซ์” (Mercedes-Benz) อันโด่งดังในปัจจุบัน

Mercedes-Benz-Rama-5

จากบันทึกห้องสมุดที่รวบรวมประวัติศาสตร์เก่าแก่ของ Mercedes-Benz Classic Center ณ เมืองสตุ๊ตการ์ด ประเทศเยอรมนี พบว่า มีการสั่งรถเมอร์เซเดส-เบนซ์คันแรก จากสถานทูตไทยกรุงปารีส (Ambassador of Siam in Paris, Avenue de Eglau from the “Automobile-Union Paris”, 39. Avenue des Champs Elysees) โดยรถได้ถูกส่งมาถึงเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 1904 (ปี 2447) เป็นรถยนต์รุ่น 28 แรงม้า 4 สูบ เครื่องยนต์ 35 แรงม้า หมายเลขแชสซีส์ คือ 2397 และหมายเลขเครื่องยนต์คือ 4290

ในขณะนั้น กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเร่งการประกอบรถยนต์แทบทุกวัน พอรถเสร็จก็ทรงว่าจ้างคนขับชาวอังกฤษขับรถคันนั้นพาพระองค์ท่าน พร้อมด้วย ม.จ. อมรทัต กฤดากร หลวงสฤษดิ์สุทธิวิจารณ์ (ม.ร.ว. ถัด ชุมสาย) ตระเวนทั่วยุโรปภาคกลางเป็นการทดลองเครื่อง แล้ววนกลับไปยังปารีส

เมื่อเสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ เสด็จกลับถึงเมืองไทย ก็ได้ทรงนำรถคันนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก รถยนต์คันนี้คือรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่สารถีคือ เสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ นั่นเอง

Mercedes-Benz-28Hp

ในปีต่อมา ได้มีการสั่งรถเมอร์เซเดส-เบนซ์เข้ามาอีก และได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ แบบ 28 แรงม้า ปี 1905 ทำความเร็วได้ 73 กม./ชม. แด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในสยาม ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า “แก้วจักรพรรดิ” ในทำนองเดียวกันกับโบราณราชประเพณีที่มีการพระราชทานนามแก่ช้างเผือกคู่บารมี โดยชื่อของรถยนต์พระที่นั่งคันนี้ มีความหมายว่า เป็นประดุจหนึ่งในแก้วเจ็ดประการอันเป็นของคู่พระบารมีแห่งองค์ราชันย์

รถพระที่นั่งคันนี้เกือบเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ เมื่อมาถึงคณะกรรมการตรวจรับช่วยกันเติมน้ำมันเบนซินใส่ถัง โดยไม่มีใครสังเกตเห็นละอองน้ำมันลอยฟุ้งไปถึงตะเกียงรั้ว ซึ่งแขกยามแขวนไว้ในโรงม้าที่อยู่ใกล้ๆ กว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อน้ำมันเบนซินในปี๊บ ลุกเป็นไฟอย่างฉับพลัน ต้องช่วยกันใช้ฟ่อนหญ้าสำหรับม้ากินฟาดดับไฟ แขกโรงม้าต้องวิ่งไปเอาถังน้ำมาช่วยดับอีกแรง ทุกคนต้องอกสั่นขวัญแขวนเมื่อตรวจพบว่าเปลวไฟลวกสีรถเกรียมไปแถบหนึ่ง บานประตูใช้ไม่ได้อีกข้างหนึ่ง

ผู้รับผิดชอบที่นำข่าวร้ายไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงราชบุรีฯ ขณะที่ทรงประทับอยู่ที่สวนอัมพร ทรงนิ่งอึ้งชั่วครู่ ก่อนที่รับสั่งให้ซ่อมแซมความเสียหาย 2-3 สัปดาห์ต่อมา รถซ่อมเสร็จ คณะกรรมการจึงนำรถมาถวายให้ทอดพระเนตรพระองค์ขึ้นประทับ และทรงลองขับดูชั่วครู่ ทรงรู้สึกว่าต้องพระราชหฤทัย

พระองค์ได้ทรงพระราชทานนามแก่รถยนต์พระที่นั่งคันนี้ว่า “แก้วจักรพรรดิ” รถยนต์พระที่นั่งคันนี้พระองค์ทรงโปรดปรานมาก และก็ได้รับใช้พระองค์ท่านอย่างซื่อสัตย์เป็นเวลาหลายปี

Mercedes-Benz

ในปี 2451 วาระเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 56 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะสั่งซื้อรถยนต์ มาเป็นของขวัญพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นสูง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์แก่แผ่นดินสืบไป

ในการนี้ทรงโปรดเกล้าให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สั่งซื้อจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน 10 คัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามแก่รถยนต์เหล่านี้แต่ละคัน ในลักษณะเดียวกับที่พระราชทานนามแก่ช้าง เพื่อแสดงถึงฐานะและความมั่งมี เช่น แก้วจักรพรรดิ มณีรัตนา ทัดมารุต ไอยราพต กังหัน ราชอนุยันต์ สละสลวย กระสวยทอง ลำลองทัพ พรายพยนต์ กลกำบัง สุวรรณมุขี

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

  • หนังสือราชยานยนต์หลวงโบราณแห่งสยาม ของสมาคมรถโบราณลุฟท์ฮันซ่า-คาสตรอล
  • หนังสือ Silver Star Chronicle 100 Year Mercedes-Benz Thailand
  • ตำนานดาวสามแฉกในกรุงสยาม mercedes-benz.co.th
King-Rama-9-Royal-Car

ยุคเริ่มแรกของรถยนต์ในโลกและในประเทศไทยเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีที่แล้ว มาพร้อมกับช่วงที่พระราชวงศ์ไทยได้ไปศึกษาต่อในประเทศแถบยุโรป ซึ่งเวลานั้น มีบริษัทรถยนต์ในยุโรปและอเมริกาเหนือ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยพระราชวงศ์หลายพระองค์ ต่างก็สนพระทัยในรถยนต์ จวบจนรถยนต์คันแรก ได้ถูกนำเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในรัชกาลต่อมา

King-Rama-9

ล่วงมาจนถึงยุคของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งยังทรงพระเยาว์ มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อ ณ เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ มีแรงบันดาลพระทัยมาจาก สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงนิยมท่องเที่ยวโดยรถยนต์ในภูมิประเทศแถบที่ประทับ และได้มีโอกาสเรียนรู้วิทยาการต่างๆ ของชาวตะวันตกมากมาย รวมไปถึงด้านรถยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงให้ความสนใจมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

ตลอดรัชสมัยอันยาวนาน มีรถยนต์ยอดเยี่ยมของโลกหลายรุ่น ได้รับใช้พระเจ้าแผ่นดินของปวงชนชาวไทย.

Fiat-500-Topolino

Fiat Topolino

เมื่อทรงเจริญพระชันษา ได้ทรงขอพระราชทานอนุญาตจากสมเด็จพระราชชนนี เพื่อทรงซื้อ Fiat 500 “Topolino” (ชื่อ “Topolino” ในภาษาอิตาลี หมายถึง “Micky Mouse” หรือ หนูตัวเล็ก ในภาษาอังกฤษ) เพราะ “ดู ตลก และน่ารักดี” เป็นรถประเทศอิตาลี มีเครื่องยนต์ขนาด 500 ซีซี 4 สูบ 13 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 4 สปีด ทำความเร็วได้สูงสุด 85 กม./ชม.

โดยมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช นักแข่งเจ้าดาราทอง ผู้มีชื่อเสียงทั่วยุโรปมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ถวายการฝึกหัดขับรถ

เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2491 เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อรถยนต์ตอนเดียวเล็กๆ คันหนึ่ง แล่นอย่างรวดเร็วตามถนนผ่านเมืองมอร์จ (Morges) มุ่งสู่ นครเจนีวา (Geneva) โดยผู้ขับมิได้คาดการณ์ว่า รถบรรทุกที่อยู่ข้างหน้าจะหยุดอย่างกะทันหันเพื่อมิให้ชนผู้ขี่จักรยานสองคนบนถนน แม้ผู้ขับรถยนต์คันเล็กจะเหยียบห้ามล้อแล้ว รถยนต์คันเล็กก็ปะทะท้ายรถบรรทุกเข้าอย่างจัง ผู้ขับรถยนต์คันเล็กนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงได้รับบาดแผลฉกรรจ์ที่พระเนตรข้างขวา ผู้โดยเสด็จในรถพระที่นั่งคือ นายอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ได้รับบาดเจ็บกะโหลกศีรษะร้าว

หลังจากนั้น รถที่ทรงโปรดในเวลาต่อมา ก็จะเป็นรถยี่ห้อ Delahaye จัดว่าเป็นรถยนต์สมรรถนะสูง ของประเทศฝรั่งเศส ที่ก่อตั้งขึ้นโดย Émile Delahaye ในปี 1894

Delahaye-GFA-135M-Convertible

Delahaye G.F.A. 135 M Convertible

Delahaye G.F.A. 135 M Convertible ปี 1952 ตัวถังผลิตโดย Henri Chapron ตัวรถผลิตโดย Société Des Automobiles Delahaye (G.F.A. ย่อมาจาก Groupe Français de l’Automobile)

ตัวถังแบบเปิดประทุน หมายเลขตัวถัง 801401 ส่วนเครื่องยนต์ (หมายเลขเครื่องยนต์ แอนน์ 6787) 6 สูบ 3 คาร์บูเรเตอร์ ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์ไฟฟ้า 4 สปีด มีตัวควบคุมการเดินหน้าถอยหลัง ใช้ยาง Firestone ขนาด 6.00 X 17

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงซื้อในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วส่งมายังประเทศไทยในภายหลัง ป้ายทะเบียน ก.ท.ด. 0008

Delahaye-GFA-178

Delahaye G.F.A. 178

Delahaye G.F.A. 178 ปี 1952 (วันที่ซื้อ คือ : 18/4/95) ตัวถังผลิตโดย Henri Chapron ตัวรถผลิตโดย Société Des Automobiles Delahaye

ตัวถังแบบ Saloon หมายเลขตัวถัง 820029 ส่วนเครื่องยนต์ รหัส 2AL-183 6 สูบ 3 คาร์บูเรเตอร์ ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์ไฟฟ้า 4 สปีด มีตัวควบคุมการเดินหน้าถอยหลัง ใช้ยาง Dunlop ขนาด 6.00/6.50 X 18

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ตั้งแต่ประทับอยู่ที่เมือง Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ป้ายทะเบียน 1ด-0009 กรุงเทพมหานคร

Delahaye-GFA-178-Wagon

Delahaye G.F.A. 178

Delahaye G.F.A. 178 ปี 1952 (วันที่บนแผงหน้าปัด คือ : 25/2/96) ตัวถังผลิตโดย Henri Chapron ตัวรถผลิตโดย Société Des Automobiles Delahaye

ตัวถังแบบ Saloon (ต่อมาถูกดัดแปลงเป็นตัวถัง Station Wagon โดย บริษัท ไทยประดิษฐ์ จำกัด โดยมี Sunroof บนหลังคา) หมายเลขตัวถัง 820038 ส่วนเครื่องยนต์ (หมายเลขเครื่องยนต์ 820038) รหัส 1AL-183 6 สูบ คาร์บูเรเตอร์เดี่ยว ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์ 4 สปีด ใช้ยาง Dunlop ขนาด 6.00/6.50 X 18

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ตั้งแต่ประทับอยู่ที่เมือง Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ป้ายทะเบียน ก.ท.ด. 0009

Delahaye-180

Delahaye G.F.A. 180

Delahaye G.F.A. 180 ปี 1953 ตัวถังผลิตโดย Henri Chapron (หมายเลขตัวถัง 6961) ตัวรถผลิตโดย Société Des Automobiles Delahaye

ผลิตเมื่อปี 2496 ตัวถังแบบลีมูซีน (หมายเลขแชสซีส์ 825018) มีหน้าต่างกระจกกั้นพระที่นั่งตอนหน้า และตอนหลัง กระจกหน้าต่างแบบไฮดรอลิก และหน้าต่างรับแดด (ซันรูฟ) บนหลังคา จุดระเบิดด้วยคอยล์ ส่งกำลังผ่านเกียร์ 4 สปีด

ผู้ซื้อคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

Delahaye-VRLD

Delahaye VLR

Delahaye VLR (ย่อมาจาก Véhicule léger de Reconnaissance Delahaye) ปี 1953 รถผลิตโดย Société Des Automobiles Delahaye เมื่อปี 2496 (วันที่บนแผงหน้าปัด คือ : 24/9/96) ตัวถังแบบรถจี้ป (หมายเลขแชสซีส์ 836206)

พวงมาลัยซ้าย เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ (หมายเลขเครื่อง 57939) ใช้ระบบไฟฟ้า 24 โวลท์ และหล่อลื่นแบบอ่างแห้ง ส่งกำลังผ่านเกียร์ 4 สปีด พร้อมเกียร์ Low และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ใช้ยาง Goodyear ขนาด 7.00 X 16

ผู้ซื้อคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ปัจจุบันติดป้ายทะเบียน กงจักร 0002

Amilcar-CO

Amilcar CO

Amilcar CO (รถเปิดประทุน) ผลิตโดย Atelier et Générale Carrosserie, Paris. ตามแบบของ Farina (หมายเลขแชสซีส์ Dans La Series 11041)

ผลิตในปี 2470 นับเป็นหนึ่งในจำนวนรถอนุกรม C6 Cruiser ซึ่งเริ่มการผลิตเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี 2469 และเป็นหนึ่งในจำนวนรถแข่งเพียงไม่กี่คัน ที่ได้รับการบรรจุเข้าสู่สายการผลิต ตัวถังเปลี่ยนเป็นแบบดังที่ปรากฎเมื่อปี 2490 ขับเคลื่อนด้วยกำลังของเครื่องยนต์ Simca-เดอโอ 4 สูบ 1100 ซีซี รุ่นปี 2489 (หมายเลขเครื่อง 90025) ส่งกำลังผ่านเกียร์ไฟฟ้า 4 สปีด ใช้ยาง Michelin ขนาด 4.75/500-19

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงซื้อรถคันนี้ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

Mercedes-Benz-300-SL-(W198)

Mercedes-Benz 300 SL (W198) “Gullwing Coupe”

Mercedes-Benz 300 SL (W198) “Gullwing Coupe” ปี 1955 ทะเบียน 1ด-0010 กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบัน ทะเบียน 1ด-1110 กรุงเทพมหานคร) ราชยานยนต์หลวงคันนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี น้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี 2498 และเข้าประจำการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2498

Mercedes-Benz 300 SL (W198) “Gullwing Coupe” ปัจจุบันมีเพียง 8 คันในประเทศไทย และคันนี้ถือว่ามีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

Mercedes-Benz-190-SL

Mercedes-Benz 190 SL (W121)

Mercedes-Benz 190 SL (W121) สีน้ำเงิน ที่ในหลวงทรงขับเมื่อคราวเสด็จฯ เยือนยุโรปห้าประเทศ ในปี 2503 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป 5 ประเทศ ในปี 2503 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำกลับมาใช้ในประเทศไทย

Daimler-DE36

ส่วนรถยนต์พระที่นั่งหลักในงานราชพิธียุคนั้น จะเป็นรถจากประเทศอังกฤษ ได้แก่ Daimler DE36 ตัวถังโดย Hooper (Couchbuilder) แบบเดียวกับพระราชินีอังกฤษ และผู้นำของนานาประเทศเลือกใช้ นอกจาก Daimler แล้วยังมี Jaguar Mk VII M และ Armstrong Siddeley Sapphire เป็นรถยนต์พระที่นั่งรองด้วย

เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จออกเยี่ยมพสกนิกรไปทั่วทุกภาค เมื่อเสด็จออกต่างจังหวัด จะทรงใช้รถ Mercedes-Benz 300 แบบเดียวกับที่รู้จักกันดีในชื่อ “เบนซ์ อาเดนนาวเออร์” (Benz Adenauer) ที่ทรงมีครบทุกรุ่น

ในระยะนี้ยังทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยรถอเมริกัน ตามยุคสมัยเช่นเดียวกับพระองค์เจ้าพีระฯ ผู้เป็นองค์ที่ปรึกษา ทรงซื้อ Cadillac Fleetwood ปี 1955 ใช้เป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ ภายหลังจึงทรงเลือกใช้รถพระที่นั่งสำหรับเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ที่สามารถลุยเข้าพื้นที่ทุรกันดารได้มากขึ้นอย่าง Jeep และ Land Rover แทนรถยนต์พระที่นั่งแบบ 4 ประตู

แหล่งที่มาบางส่วนจาก:

  • ภาพจาก หนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ของสำนักพิมพ์ ริเวอร์ บุ๊คส์
  • ข้อมูลจาก นพ.สมคนึง ตัณฑ์วรกุล และหนังสือ ราชยานยนต์โบราณแห่งสยาม

Toyota-Soluna-King-Rama-9

Toyota-Soluna-King-Rama-9

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) นอกจากจะทรงมีพระปรีชาสามารถในทุกๆ ด้าน ยังมีสิ่งหนึ่งที่คนในวงการ “อุตสาหกรรมยานยนต์” น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และสถิตอยู่ในใจคนโตโยต้าตราบนิจนิรันดร์

หลายๆ คน คงเคยเห็นภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงขับรถ Toyota Soluna (โตโยต้า โซลูน่า) สีฟ้า ทะเบียน 1ด-0956 กรุงเทพมหานคร

Toyota-Soluna-ในหลวง-รัชกาลที่9

เรื่องนี้ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เคยให้สัมภาษณ์สารสภาวิศวกรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2550 และนายวิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้สัมภาษณ์ในวาระครบ 50 ปี ที่โตโยต้าทำธุรกิจในประเทศไทย

หลังจากที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 ได้เกิดวิกฤตฟองสบู่แตก บริษัทไฟแนนซ์ล้ม ผู้คนตกงานมากมาย จากนั้นในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน ก็เกิดข่าวลือว่าทางโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น จะประกาศปิดโรงงานที่เกตเวย์ เตรียมเลิกจ้างพนักงานกว่า 5,500 คน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเป็นห่วงว่าราษฎรของพระองค์จะตกงาน จึงทรงมีพระราชดำริขอซื้อรถยนต์โตโยต้าโซลูน่าเพื่อให้คนไทยได้มีงานทำ จนกลายมาเป็นรถยนต์ฝีมือของคนไทยซึ่งเป็นราษฎรของพระองค์ท่าน

จึงรับสั่งให้เลขานุการส่วนพระองค์แจ้งว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์สั่งซื้อ รถ Toyota Soluna 1 คัน โดยให้พนักงานที่ทำนั้นไม่ต้องเร่งรีบ ใช้มือทำก็ได้ ไม่ต้องใช้เครื่องจักร เพื่อที่พนักงานโตโยต้าคนไทยจะได้มีงานทำนานๆ โดยหลังจากที่โตโยต้าทราบ จึงตั้งใจทำให้รถมีอะไรพิเศษ โดยติดชื่อรุ่นและเลขเป็นแบบไทย ไม่เคยทำมาก่อนในรถยนต์รุ่นไหน

ซึ่งเมื่อรถยนต์คันดังกล่าวนั้นแล้วเสร็จ ก็ได้มีการนำไปถวายพระองค์ ในช่วงเดือนธันวาคม 2540 พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 600,000 บาท ให้กับทางโตโยต้า แต่ทางโตโยต้านั้นไม่ขอไม่รับเงินนั้นไว้

Toyota-Expo-2017-Soluna

Model รถยนต์ Toyota Soluna ที่ทาง Toyota จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริใหม่ว่า ให้นำเงินนั้นไปตั้ง “โรงสีข้าว” เพื่อช่วยเหลือชาวนาละแวกใกล้เคียงโรงงานผลิตรถ เพราะโตโยต้ามีการบริหารจัดการที่ดี จึงควรตั้งโรงสีข้าวตัวอย่างขึ้นเอง แล้วขายข้าวที่ได้จากโรงสีในราคาสวัสดิการให้แก่พนักงานหรือชาวบ้าน และขายผลพลอยได้ เช่น แกลบและรำ ให้แก่เกษตรกรชุมชนที่เลี้ยงหมู ดังนั้นทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของ “โรงสีข้าวรัชมงคล” ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

Toyota-Soluna-Catalogue-1

Toyota Soluna จากโครงการรถ AFC (Affordable Family Car) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่วิจัยและพัฒนา และเริ่มต้นผลิตในไทยเป็นแห่งแรก คันแรกออกจากสายการผลิตเป็นทางการ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2539 และโตโยต้า ได้แถลงข่าวความคืบหน้าของรถยนต์รุ่นนี้ ที่ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2539

คำว่า “Soluna” นั้น มาจากการนำคำว่า “Sol” ซึ่งมาจากคำว่า “Solar” แปลว่า ดวงอาทิตย์ กับคำว่า “Lunar” แปลว่า พระจันทร์ มารวมกัน

Toyota Soluna เปิดตัวสู่สื่อมวลชนในวันที่ 28 มกราคม 2540 และเปิดตัวสู่สาธารณชนในวันที่ 31 มกราคม 2540 มาพร้อม Slogan “Great Journey การเดินทางที่ยิ่งใหญ่” และมี โด๋ว-มรกต โกมลบุตร เป็นพรีเซ็นเตอร์ในช่วงแรก เพียง 3 วันของงานเปิดตัว ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ใบสั่งจองที่มากเป็นประวัติการณ์ถึง 28,765 ใบ (15,335 ใบ ในงานเปิดตัว และ 13,430 ใบ จากดีลเลอร์)

Toyota-Soluna-Thai

มาพร้อมเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร รหัส 5A-FE แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ให้แรงม้าสูงสุด 95 แรงม้า ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 126 นิวตัน-เมตร ที่ 4,800 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด

Toyota-Soluna-Thai

Toyota-Soluna-Thai

ในเดือนพฤษภาคม 2541 Soluna ยังมีรุ่นพิเศษที่สร้างความฮืฮฮาด้วย “Soluna Special Version” (โซลูน่า สเปเชี่ยล เวอร์ชั่น) มีชื่อเป็นภาษาไทยและเลขไทย ติดที่ฝากระโปรงหลัง เป็นรุ่นแรกในโลกของรถโตโยต้า ที่ติดชื่อรุ่นรถและตัวเลขเครื่องยนต์เป็นภาษาท้องถิ่น

ที่มาจากจากการที่รถยนต์โตโยต้า โซลูน่า ได้รับรางวัลรถยอดเยี่ยมแห่งปี 1998 ในประเภทเครื่องยนต์ไม่เกิน 1.5 ลิตร ในการประกวดรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 1998 โดยการตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสมาคมและสถาบันการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์ และสื่อมวลชน

Toyota-Soluna-Thai

โตโยต้าจึงฉลองโอกาสแห่งความภาคภูมิใจนี้ด้วยการออกรุ่น “โซลูน่า สเปเชี่ยล เวอร์ชั่น” ที่ผลิตขึ้นเจำนวนจำกัด 600 คัน โดยเน้นความสปอร์ต และเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ตกแต่งมากกว่ารุ่นพื้นฐาน

Toyota-Soluna-Thai

เริ่มจากชุดอุปกรณ์ตกแต่งสไตล์สปอร์ตตลอดคัน จำนวน 12 รายการ และมีสัญลักษณ์รุ่นเป็นภาษาไทย ที่เปิดประตูด้านข้าง กระจกมองข้างและคิ้วกันกระแทกสีเดียวกับตัวรถ ล้อแม็กพร้อมยางขนาด 175/65 R14 สปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรก นอกจากนี้ยังเพิ่มคิ้วบังลมด้านหลังเพื่อป้องกันแสงแดดและคิ้วบังลมด้านข้างป้องกันละอองฝน

Toyota-Soluna-Thai

หลังจากปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ในปี 2542 ปรับหน้าตาใหม่ กันชนใหม่ ไฟท้ายใหม่ หรือที่บรรดาเต็นท์รถมือสองเรียกกันว่า “ไฟท้ายหยดน้ำ” ก่อนจะเลิกจำหน่ายไปในเดือนพฤศจิกายน 2545

ต่อมา โตโยต้า โซลูน่า ในรุ่นถัดไปจึงพัฒนาเป็น โซลูน่า วีออส (Soluna Vios) และชื่อของ “Soluna” ก็หายไปจากตลาดจริงๆ ในเดือนตุลาคม 2548 โดยเป็น Toyota Vios (โตโยต้า วีออส) จวบจนปัจจุบัน

แหล่งที่มา: