Hog-Parking-On-The-Road

ปัญหาเรื่อง “ที่จอดรถ” ในบ้านเรานี่ก็จัดเป็นปัญหาโลกแตก เป็นปัญหาที่แก้ไม่มีวันจบซะที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามหมู่บ้านจัดสรร หรือตามถนนสายต่างๆ ที่อาจจะมีร้านอาหารยอดนิยม สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม หรือบรรดาสถานเริงรมย์ต่างๆ

มักสังเกตเห็นได้ว่า ริมถนนบางที่มักจะมีสิ่งกีดขวาง มาวางเกะกะบนถนนเพื่อ “กั๊กที่จอดรถ” ไว้ให้ลูกค้าตัวเอง หรือบ้านตัวเองบ้างล่ะ ใช้ถนนเป็นที่จอดรถส่วนตัวซะงั้น

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ในทางกฎหมายนั้น ผิดเต็มๆ เลยนะครับ แต่จะผิดด้วยข้อหาอะไรบ้าง Mr.Carro จะมาเล่าให้ฟัง …

Hog-Parking-On-The-Road

กั๊กที่จอดรถ ถือเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 19 กล่าวคือ “ห้ามมิให้ผู้ใดตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน เว้นแต่เป็นการกระทำในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร”

สำหรับคำว่า “ถนน” ใน พ.ร.บ. นี้ ครอบคลุมถึงทางเดินรถ ทางเท้า ขอบทาง ไหล่ทาง ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ตรอก ซอย สะพาน หรือ “ถนนส่วนบุคคล” ซึ่งเจ้าของที่ดิน ยินยอมให้ประชาชนใช้ผ่านเป็นทางสัญจรได้

และในมาตรา 57 ยังกล่าวอีกว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท นั่นหมายความว่า หากมีผู้ไปแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใครที่กระทำการใดๆ เพื่อกั๊กที่จอดรถ จะมีโทษปรับ (ซึ่งปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท)
นอกจากนี้ ผู้แจ้ง จะได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของค่าปรับ ตามมาตรา 48 อีกด้วยนะครับ โดยค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบ ให้แบ่งแก่ผู้แจ้งกึ่งหนึ่ง และพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานจราจร หรือตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมจราจร ผู้จับกุมอีกกึ่งหนึ่ง

Hog-Parking-On-The-Road

ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร – บก.02

ส่วนใครที่พบเจอปัญหาเหล่านี้ ก็สามารถแจ้งไปได้ตามส่วนงานที่รับผิดในเรื่องดังกล่าวได้ ตามรายละเอียดด้านล่าง

– ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
– ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต และผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร

– ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
– ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายอำเภอ สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
– ปลัดเทศบาลและรองปลัดเทศบาล สำหรับในเขตเทศบาล

– ประธานกรรมการสุขาภิบาล สำหรับในเขตสุขาภิบาล
– ปลัดสุขาภิบาล สำหรับในเขตสุขาภิบาล

– หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การปกครองท้องถิ่นอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น หรือผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ

– ปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา (เขตปกครองพิเศษ)
– รองปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา (เขตปกครองพิเศษ)

ถ้าเป็นหมู่บ้านจัดสรร ก็ให้ไปแจ้งที่นิติบุคคลของหมู่บ้าน แต่ถ้าหมู่บ้านเก่าๆ ไม่มีนิติบุคคลแล้ว ก็คงต้องพึ่งโซเชียลมีเดีย ครับ …

Hog-Parking-On-The-Road

ภาพจาก สน.หลักสอง

แต่ที่นี่คือประเทศไทย ก็อย่างที่รู้ๆ กันน่ะครับ ว่า กฎหมายบ้านเราค่อนข้างจะหย่อนยาน ตำรวจหรือเทศกิจ อาจจะฟิตจับปรับในช่วงแรกๆ ที่เป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา พอหลังจากนั้น สถานการณ์ก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ กั๊กที่จอดกันตามสะดวกเหมือนเดิม …..

แม้ว่ากฏหมายจะออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ซึ่งก็ถือว่าเกือบๆ 30 ปีแล้ว แต่การกระทำดังกล่าว ยังถือว่าทันสมัยมาก เพราะมีให้เห็นได้ทุกวัน!

แหล่งที่มาบางส่วนจาก: