ยิ่งลักษณ์

โครงการ “รถคันแรก” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
มีทั้งข้อดี และพิษร้ายเรื้อรัง

หลายวันก่อนได้มีข่าวออกมาว่า มีกลุ่มคนได้รับความเดือดร้อนจากโครงการในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ผ่านมา เจ้าของรถหลายรายได้เดินทางไปยังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อขอโอนรถให้กับบุคคลอื่น เนื่องจากครอบครองรถมาเกินระยะเวลา 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ของโครงการแล้ว แต่กลับโอนไม่ได้!!

วันนี้ คาร์โร จึงจะมาสรุปเป็นข้อๆไปตามลำดับเหตุการณ์ พร้อมทั้งวิธีการดำเนินการการคืนเงินภาษี ดังนี้

1. ในปัจจุบันปรากฏว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่สามารถโอนรถให้กับบุคคลอื่นได้ แม้จะครอบครองรถมาเกินระยะเวลา 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ของโครงการรถคันแรกแล้ว เพราะเป็นรถที่ได้รับแจ้งว่าอยู่ในข่ายถูกตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ว่าอาจทำผิดเงื่อนไขโครงการ เช่น มีการเปลี่ยนมือเจ้าของรถก่อน หรือมีการขายก่อน 5 ปี บางรายที่อยู่ในข่ายไม่ควรได้รับเงินคืนภาษีมาตั้งแต่ต้น

2. ล่าสุด ตามรายงานข่าวระบุว่า มีรถที่เข้าข่ายติดปัญหาการโอนอยู่ประมาณ 40,000 คัน

3. สาเหตุที่ติดปัญหาไม่สามารถโอนได้ เนื่องจากผู้ใช้สิทธิ์มีการยื่นเอกสารมาให้กรมล่าช้ากว่าที่ระเบียบกำหนดในสิ้น เดือน ธ.ค. 2555 จึงทำให้ สตง. ตั้งข้อสังเกตว่าการยื่นเอกสารมาล่าช้าอาจไม่ตรงกับหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิ์รถคันแรกตามที่มีมติ ครม.หรือไม่ จึงให้มีการชะลอการโอนสิทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะมีการพิจารณาตัดสินชัดเจน คาดว่าจะหาข้อยุติปัญหาได้ภายใน 2 สัปดาห์

4. โครงการรถคันแรกเป็นการให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ตามโครงการนี้ ด้วยการคืนภาษีสรรพสามิตให้ไม่เกินคันละ 1 แสนบาท

5. ตัวอย่างของการทำผิดเงื่อนไข และต้องคืนเงิน เนื่องจากได้มีการตรวจสอบจากสำนักงานสรรพสามิตในหลายพื้นที่ได้มีการแก้ไขปัญหาตามที่ สตง.รายงาน

ไม่ว่าจะเป็น กรณีเอกสารประกอบไม่ครบถ้วน รวมถึงการติดตามเรียกเงินคืนจากผู้ขอใช้สิทธิที่ทำผิดเงื่อนไข อาทิ ชื่อตามใบจองรถยนต์เป็นคนละชื่อกับชื่อผู้ขอใช้สิทธิ อายุผู้ขอใช้สิทธิ์ไม่ครบ 21 ปีบริบูรณ์ ในช่วงจองรถยนต์ เป็นต้น

ตัวอย่าง ในพื้นที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ราชบุรี กรณีนายกองใจ ขอใช้สิทธิคืนเงินรถยนต์กระบะ ยี่ห้อ มิตซูบิชิ ไทรทัน จำนวน 10,946 บาท ซึ่งกรมสรรพสามิต ทำการอนุมัติสิทธิคืนเงินให้ ก่อนที่จะมีการตรวจสอบเอกสารภายหลัง พบว่า ชื่อในใบจองเป็นคนละชื่อกับผู้ใช้สิทธิ

สำนักงานสรรพสามิต พื้นที่กรุงเทพมหานคร 4 กรณีนายชวนินทร์ อายุไม่ครบ 21 ปีบริบูรณ์ตอนจองรถยนต์ และรับรถยนต์ไม่ตรงรุ่น/หมายเลขเครื่องยนต์ และใบจองรถยนต์คนละชื่อกับชื่อผู้ขอใช้สิทธิ ซึ่งสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่กทม.4 ได้ดำเนินการติดตามเรียกเงินคืนจากนายชวนินทร์ แล้ว ฯลฯ

6. เงินที่ใช้ซื้อรถคันแรกไปแล้ว 1 ล้านคันในยุคนั้น นับเป็นการใช้ดีมานด์ล่วงหน้าไปหลายปี และถูกล็อกไว้ด้วยว่า 5 ปี ต้องถือครองรถ จะขายต่อไม่ได้หลังโครงการตลาดรถยนต์จึงซึมระยะยาว ทั้งรถใหม่ รถมือสอง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เคยสรุปผลจากนโยบายรถคันแรกว่า โครงการรถคันแรก มีผลดีตรงที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ยอดการผลิตปี 2556 ขยับขึ้นเป็นปีละกว่า 2 ล้านคัน

แต่ผลเสียก่อให้เกิดหนี้ครอบครัว จากการเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีให้กำลังการซื้อของผู้บริโภคหดตัวลงทุกประเภทสินค้า (หลังมีโครงการรถคันแรก)

นอกจากนี้ในรายงานการตรวจสอบของ สตง. ได้ระบุถึงผลกระทบของโครงการที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องไว้ด้วย ระบุว่า “การดำเนินโครงการฯ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

ผลกระทบโดยตรง

โครงการรถคันแรกสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา รัฐยังสามารถเก็บภาษีต่อเนื่องได้เพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีการเติบโตได้ระยะหนึ่ง แต่ขาดความยั่งยืน โดยเป็นการดึงอุปสงค์ (Demand) ในอนาคต คือ ความต้องการซื้อล่วงหน้ามาใช้ จึงส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการผลิตรถยนต์

ผลกระทบโดยอ้อม

จากการที่ยอดการผลิตรถยนต์ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกจ้างแรงงานบางส่วน มีการยึดรถขายทอดตลาดจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์มือสอง ซึ่งมีรถยนต์มือสองค้างในสต๊อกจำนวนมาก โดยมีเต็นท์รถยนต์มือสองหลายแห่งต้องปิดกิจการ

นอกจากนี้ ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาการจราจรและปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากผู้ซื้อรถยนต์คันแรกยังขาดความรู้ความชำนาญในการขับรถยนต์เพียงพอ

วิธีดำเนินการการคืนเงินภาษี

1. ผู้ซื้อรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ต้องยื่นคำขอคืนเงินกับกรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ พร้อมเอกสารหลักฐาน ประกอบด้วย

-หนังสือยินยอมสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปี

-สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ซื้อ

-สำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ (ในกรณีเช่าซื้อ)

2. กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่มีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อขอตรวจสอบการครอบครองรถยนต์คันแรก และแจ้งการสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปีของผู้ซื้อ

3. กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดตรวจสอบและบันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ลงในคอมพิวเตอร์และในสมุดคู่มือการจดทะเบียน

4. กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดส่งหนังสือรับรองการครอบครอง รถยนต์คันแรก และสำเนาคู่มือการจดทะเบียนที่บันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ให้กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่

5. กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ และสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ซื้อเมื่อครอบครองครบ 1 ปี โดยจ่ายเป็นเช็คให้ในครั้งเดียว

 

กรณีรถถูกยึดเนื่องจากไม่สามารถผ่อนชำระต่อได้

ปลดล็อคเงื่อนไข ห้ามโอนภายใน 5 ปี กรณีผู้ซื้อรถ(ผ่อน)ผิดนัดไม่สามารถผ่อนชำระต่อได้ ไฟแนนซ์ก็สามารถยื่นเรื่องให้กรมสรรพสามิตตรวจสอบ ว่าเป็นจริง เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าผู้ซื้อรถผิดนัดไม่ผ่อนชำระต่อจริง ก็จะแก้เงื่อนไขกรณีห้ามโอนภายใน 5 ปี ให้สามารถนำรถไปขายทอดตลาดได้

และจะเรียกเงินภาษีจากผู้ที่ซื้อรถไปแล้วแต่ไม่สามารถผ่อนต่อได้ คืนกลับให้กรมสรรพสามิตเท่ากับจำนวนที่ได้รับไป (ผู้ซื้อรถไปแล้วแต่ไม่สามารถผ่อนต่อได้ จะต้องคืนเงินให้กรมสรรพสามิตเท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับการคืนภาษีรถยนต์คันแรก)

สุดท้าย สะท้อนให้เห็นว่าโครงการดำเนินการไม่รัดกุม มุ่งเอาคะแนนนิยมเฉพาะหน้ามากกว่า จะทำเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่ฝากปัญหาไว้กับระบบอุตสาหกรรมรถยนต์ และยังทิ้งภาระเป็นเสมือนพิษร้ายไว้กับผู้ร่วมโครงการอีกยาวนาน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : naewna.com