เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับระบบแก๊สรถยนต์

“แก๊สรถยนต์” เป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันในวงการรถยนต์ไทยมานานตั้งแต่ 40 กว่าปีมาแล้ว นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันในช่วงกลางยุค 70 ทำให้เหล่าแท็กซี่ที่สู้ค่าน้ำมันไม่ไหว ต่างต้องหันมาติดตั้งแก๊สรถยนต์ใช้กัน และก็เริ่มได้รับความนิยมในหมู่รถบ้าน มาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับระบบแก๊สรถยนต์ สำหรับรถติดแก๊ส LPG

แก๊สติดรถยนต์ ในไทยนิยมใช้กันมาไม่ต่ำกว่า 40 ปีแล้ว ขนาดรถหรูอย่าง Volvo 264 GLE ก็ยังมีติดแก๊สออกมาจากโรงงาน

ประกอบกับราคาน้ำมันแพงมาก ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้อู่ติดแก๊สรถยนต์ ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด แต่ละร้านช่างงานล้นมือกว่าเดิมหลายเท่า อุปกรณ์ติดแก๊สขาดตลาด ส่วนเจ้าของร้านรวยเป็นอาเสี่ยกันเพียบ และนิตยสารรถยนต์บางฉบับ มีร้านรับติดแก๊สรถยนต์ขอลงโฆษณาเยอะมาก จนต้องทำหนังสือเกี่ยวกับรถติดแก๊สแยกออกมาโดยเฉพาะ ถึงขั้นต้องบอกเจ้าของร้านว่าไม่ต้องลงโฆษณาทุกเดือนได้ไหม ….. เหลือเชื่อเลย!

แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันถูกลง ทั้งร้านทั้งอู่ติดแก๊สรถยนต์ก็ซบเซา หายไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน เหลือแต่เจ้าใหญ่ๆ ทุนหนา สายป่านยาวอยู่เพียงไม่กี่เจ้า ก่อนจะกลับมาบูมอีกครั้งในปีนี้ ปีที่ราคาน้ำมันแพงมาก เบนซิน 2 ลิตร 100 ก็ได้เห็นกันแล้ว …

ใครที่สู้ราคาน้ำมันแพงสุดขีดไม่ไหว อยากเอารถไปติดแก๊ส LPG ต้องอ่าน

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับระบบแก๊สรถยนต์ สำหรับรถติดแก๊ส LPG

ภาพจาก บิ๊กแก๊ส ก๊าซหุงต้ม LPG

แก๊สรถยนต์ มาจากไหน?

แก๊สรถยนต์ เป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม มีชื่อว่า LPG (Liquefied Petroleum Gas) ที่ได้จากการแยกน้ำมันดิบ (Crude Oil) ในโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งให้ค่าความร้อนสูง ประกอบไปด้วย Propane (โพรเพน) และ Butane (บิวเทน) มีสูตรทางเคมี C3H8 + C4H10 และได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ

LPG มีคุณสมบัติ สามารถแปรสภาพจากของเหลว โดยขยายตัวเป็นก๊าซได้ถึง 250 เท่า มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ แต่หนักกว่าอากาศ เป็นเชื้อเพลิงติดไฟง่าย และเป็นพลังงานที่เผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ ลดมลภาวะในอากาศ ไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ค่าออกเทนสูงถึงประมาณ 105

เมื่อผ่านการผลิตจากโรงงานเรียบร้อยแล้ว ก็จะขนแก๊สผ่านรถบรรทุกขนาดใหญ่ มาถ่ายแก๊สลงสู่สถานีบริการแก๊ส สำหรับไว้รอเติมรถยนต์

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับระบบแก๊สรถยนต์ สำหรับรถติดแก๊ส LPG

ทำไมแก๊สรถยนต์ ถึงมีกลิ่น?

หลายครั้งที่คุณอาจได้กลิ่นแก๊สรถยนต์ ออกมาจากท่อไอเสีย (โดยเฉพาะรถที่ตัด Catalytic Converter ออก) หรือจากเตาแก๊สในบ้าน

ตามจริงแล้ว แก๊ส LPG ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่เพื่อความปลอดภัย จึงเติมสาร Ethyl Mercaptan (เอทิลเมอแคบแทน) เพื่อให้สามารถทราบได้ กรณีเกิดแก๊สรั่ว

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับระบบแก๊สรถยนต์ สำหรับรถติดแก๊ส LPG

ภาพจาก PS Pornsak พรศักดิ์แก๊สอ่อนนุช

อุปกรณ์ติดแก๊สรถยนต์ หลักๆ ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ นั่นคือ

  • ระบบดูด (Fumigation System หรือ Fix Mixer) มักนิยมติดตั้งในรถที่ใช้ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์และหัวฉีด ซึ่งจะมีจะมีอุปกรณ์ผสมแก๊สกับอากาศ (Gas Mixer) ทำหน้าที่ดูดอากาศไปพร้อมกับแก๊สในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการเผาไหม้
    ซึ่งระบบกลไกจะจ่ายส่วนผสมนี้เข้าเครื่องยนต์ ตามรอบเครื่องยนต์ ซึ่งถ้ารอบเครื่องยนต์ต่ำ แรงดูดอากาศในเครื่องยนต์น้อย จะจ่ายเชื้อเพลิงน้อย ถ้ารอบเครื่องยนต์สูง แรงดูดอากาศในเครื่องยนต์มาก จะจ่ายเชื้อเพลิงมาก ซึ่งจะกินแก๊สมากกว่าในระบบหัวฉีด ส่วนการปรับจูนแก๊ส ต้องใช้การปรับด้วยมือ
  • ระบบหัวฉีด (Sequential Injection) ออกมาสำหรับใช้งานกับเครื่องยนต์ระบบหัวฉีด โดยมีจำนวนหัวฉีดตามจำนวนสูบของรถ ควบคุมการทำงานผ่านกล่อง ECU เหมือนรถน้ำมัน ให้สมรรถนะและอัตราเร่งใกล้เคียงระบบน้ำมัน รวมถึงประหยัดเชื้อเพลิงแก๊สกว่าแบบระบบดูด ส่วนการปรับจูนแก๊ส ต้องปรับจูนผ่านคอมพิวเตอร์

อ่อ ในยุคเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยังมีระบบแก๊สอีกแบบหนึ่งที่นิยมติดตั้งในรถยนต์ด้วย นั่นคือแบบ Lamda Control หรือ Step Motor หรือแบบกึ่งหัวฉีด มีวาล์วเปิด-ปิด

โดยจะมีวาล์วหนึ่งตัวคอยสั่งการเมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วสูง ต้องการปริมาณแก๊สที่มากขึ้น วาล์วก็จะเปิดให้แก๊สเข้ามามากขึ้น ในขณะที่เมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วต่ำ ไม่ต้องการปริมาณแก๊สมาก วาล์วก็จะปล่อยก๊าซออกมาน้อย ซึ่งดีกว่าแบบใช้หม้อต้มนิดหน่อย

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับระบบแก๊สรถยนต์ สำหรับรถติดแก๊ส LPG

อุปกรณ์ติดแก๊สรถยนต์ มีอะไรบ้าง และโดยมากมาจากประเทศไหน?

อุปกรณ์ติดแก๊สรถยนต์ส่วนใหญ่ มักจะมาจากอิตาลี (เช่น BSM, Tomasetto, Fagumit, Lovato, Versus, Valtek), ตุรกี (เช่น Atiker) หรือโปแลนด์ (เช่น AC Autogas) ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้พัฒนาอุปกรณ์ติดแก๊สรถยนต์มายาวนานมากแล้ว และบางส่วนก็นำเข้ามาจากเกาหลีใต้ (เช่น Hana) หรือญี่ปุ่น (เช่น Nikki, Keihin) และที่ผลิตจากในไทยเอง เช่น ถังแก๊ส (Magnate), ท่อแก๊ส เป็นต้น

  • กล่อง ECU แก๊ส

สำหรับกล่อง ECU แก๊ส หรือสมองกล มักใช้ร่วมกับระบบแก๊สที่จ่ายแก๊สแบบหัวฉีด ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ หลายราคา

  • Map Sensor

Map Sensor (แมพเซ็นเซอร์) มี่หน้าที่วัดแรงดันของแก๊ส ที่อยู่ในรางหัวฉีดและท่อไอดี เพื่อส่งสัญญาณให้กับกล่อง ECU แก๊สประมวลผล ในกรณีที่ท่อแก๊สขาด แรงดันที่หัวฉีดจะลด แมพเซ็นเซอร์จะส่งสัญญาณไปยังกล่อง ECU แก๊สเพื่อทำการสั่งหยุดการจ่ายแก๊สทันที

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับระบบแก๊สรถยนต์ สำหรับรถติดแก๊ส LPG

  • หม้อต้มแก๊ส

– หม้อต้ม (Evaporator) หรือ อุปกรณ์ปรับความดันแก๊ส (Pressure Regulator) เป็นอุปกรณ์ลดความดันแก๊สในถังให้อยู่ในระดับที่เหมาะกับการใช้งานในเครื่องยนต์ เพราะเมื่อลดความดันแก๊ส แก๊สเย็นลงจนเป็นน้ำแข็งเกาะหม้อต้ม ปิดทางไหลของแก๊สได้ จึงต้องใช้น้ำที่ระบายความร้อนจากเครื่องยนต์มาช่วยละลายน้ำแข็ง เปิดทางไหลของแก๊สให้เป็นได้สะดวก จากลักษณะการทำงานจึงนิยมเรียกกันว่า หม้อต้ม

รถยนต์โดยมากจะใช้หม้อต้มแก๊สแบบรุ่นธรรมดา เหมาะกับรถที่มีกำลังไม่เกิน 140 แรงม้า และแบบ Super ที่จะรองรับรถติดแก๊สที่มีแรงม้าตั้งแต่ 200 แรงม้าขึ้นไป ที่สำคัญต้องได้มาตรฐาน ECR 67 ตามมาตรฐานยุโรป

  • กรองแก๊ส

เมื่อมีหม้อต้มแล้ว ก็ต้องมีกรองแก๊สตามมาด้วย ลักษณะก็คล้ายๆ กับกรองอากาศ หรือกรองแอร์นั่นล่ะครับ คือกรองสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนมากับแก๊สนั่นเอง ช่วยให้เครื่องยนต์สึกหรอน้อยลง ผลิตจากกระดาษ ไฟเบอร์ หรือโพลีเอสเตอร์

กรองแก๊สมีอายุการใช้งานประมาณ 20,000 – 30,000 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับวัสดุการผลิต และความละเอียดของตัวกรอง

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับระบบแก๊สรถยนต์ สำหรับรถติดแก๊ส LPG

ภาพจาก PS Pornsak พรศักดิ์แก๊สอ่อนนุช

  • ถังแก๊ส LPG

ถังแก๊ส LPG ในรถยนต์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ถังแคปซูล และถังโดนัท ส่วนใหญ่จะผลิตจากเหล็กกล้า ซึ่งปลอดภัยและได้มาตรฐาน มอก. ตามกฎหมายที่กรมขนส่งการบกกำหนด เช่น “มอก.370-2525” หรือมาตรฐานยุโรป “EC 67 R01” ที่กฎหมายไทยให้การยอมรับ มีถังให้เลือกหลายขนาด ตั้งแต่ 25 – 96 ลิตร

ส่วนมาตรฐานอื่น ๆ ที่อนุญาตให้ใช้ได้ เช่น
– มาตรฐาน “ECE R” แต่ต้องเป็นถังแก๊สที่ติดตั้งมากับรถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
– กรณีร้านติดตั้งแก๊สที่มีนำเข้าถังจากต่างประเทศโดยตรง เช่น ถังโดนัท ต้องมีมาตรฐาน “ECR 67”

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับระบบแก๊สรถยนต์ สำหรับรถติดแก๊ส LPG

ภาพจาก Sbp Petch

  • วาล์วแก๊ส

– อุปกรณ์สำคัญของถังแก๊ส LPG ทำหน้าที่จ่ายเชื้อเพลิงในถึงแก๊ส ปัจจุบันมักใช้วาล์วไฟฟ้า (Solenoid Valve) รูปทรงกลมๆ มีให้เลือกอยู่หลากหลายแบบ หลากหลายประเทศ มีทั้งของแท้และของปลอม (ต้องดูดีๆ) ซึ่งวาล์วแก๊สจะต้องมีวาล์วนิรภัยด้วยกัน 3 ชั้น ได้แก่

1.วาล์วระบายแรงดันเกิน (Pressure Relief Valve) ทำหน้าที่ระบายแก๊สในถังแก๊ส เมื่อในถังมีแรงดันสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ โดยจะปล่อยแก๊สออกเพื่อลดแรงดันในถังแก๊ส
2.วาล์วป้องกันการไหลเกิน (Excess Flow Valve) ทำหน้าที่ปิดการจ่ายแก๊ส เมื่อพบว่าแก๊สไหลมากผิดปกติ เช่น ท่อแก๊สหลุดหรือขาด
3.ฟิวส์ตะกั่ว (Thermal Fuse) จะหลอมละลายเมื่ออุณหภูมิบริเวณวาล์วสูงกว่า 110°C เช่นในกรณีรถถูกไฟไหม้ ทำให้ถังแก๊สรถยนต์ร้อนขึ้น เมื่อฟิวส์ตัวนี้ละลาย จะเปิดช่องให้แก๊สระบายออกจากถังได้ เพื่อป้องกันถังแก๊ส ระเบิด

มัลติวาล์วคุณภาพสูง ต้องผ่านมาตรฐานยุโรป E8 ECE 67R – 01 3018

  • นาฬิกาแก๊ส

– เป็นเข็มวัดระดับแก๊สในถัง อยู่ตรงบริเวณวาล์วของถังแก๊ส หลักการทำงานคือส่งสัญญาณไปที่กล่องสมองกลของแก๊ส เพื่อบอกระดับแก๊สให้สวิทช์แก๊สในรถยนต์

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับระบบแก๊สรถยนต์ สำหรับรถติดแก๊ส LPG

ภาพจาก รถติดแก๊ส

  • แป๊บทองแดง

แป๊บทองแดง ก็คือท่อแก๊สนั่นเอง ในปัจจุบันจะมียางหุ้มทองแดงมาจากโรงงาน เพื่อกันน้ำ กันกระแทก รั่ว และแข็งแรงกว่าท่อทองแดงเปลือยๆ ที่กรมการขนส่งฯ ไม่อนุญาตให้ใช้ (รวมถึงท่อร้อยแป๊บเองด้วย) แล้ว ตามกฎหมายบังคับให้เป็นมาตรฐาน “ECR 67” เท่านั้น

  • ท่อยางแก๊ส

– ท่อยางแก๊ส เป็นท่อทางเดินแก๊สในห้องเครื่องยนต์จุดต่างๆ เช่น ต่อเข้า Map Sensor, ต่อเข้ารางหัวฉีด, ต่อเข้าน็อตไอดี และต่อเข้าหม้อต้มแก๊ส ซึ่งมีอยู่หลายแบบ ตั้งแต่ 4 – 16 มิลลิเมตร และหลายคุณภาพ สามารถดัดโค้งได้ง่าย รับแรงดันได้ดี ถ้าคุณภาพดหน่อยก็จะมีด้ายใยสงเคราะห์พิเศษถักด้วย

ทั่วไปจะเปลี่ยนทุกๆ 50,000 กิโลเมตร หรือ 1 ปี หรือทุกๆ 100,000 กิโลเมตร หรือ 3 ปี หรือถ้ามีรอยปริ แตกลายงาที่ท่อ ก็รีบเปลี่ยนได้เลย ไม่ต้องรอ!

สำหรับตอนต่อไปของเรื่องราวรถติดแก๊สนั้น MR.CARRO จะขอพาท่านไปรู้ถึงข้อดี และข้อเสียของระบบแก๊สรถยนต์กันครับ …

Carro Express ขายรถกับคาร์โร อยากขายรถ ขายรถด่วน

สำหรับใครที่อยากขายรถคันเดิม ไปซื้อรถยนต์คันใหม่ มาขายรถกับทาง CARRO Express ได้ที่  https://th.carro.co/sell-car/express วิธีการขายรถในแบบยุคใหม่ ง่าย สะดวก รวดเร็ว ได้ราคา อีกทั้งยังลงขายได้ “ฟรี!” พร้อมรับเงินสดกลับบ้านทันที ภายใน 24 ชั่วโมง!

Carro Automall / คาร์โร ออโต้มอลล์

แต่ถ้าหากช่วงนี้ใครอยากเปลี่ยนรถคันใหม่ มาใช้แทนที่รถคันเดิม CARRO Automall แหล่งรวมรถมือสองคุณภาพเยี่ยมผ่านระบบออนไลน์ พร้อมตอบโจทย์คุณด้วยคอนเซปต์ “click.buy.drive.” คุณสามารถจองรถออนไลน์ ได้ในเวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น!

รถทุกคันผ่านการตรวจสภาพแบบ Double Check มากกว่า 160 จุด และยังมีเทคโนโลยี “360 View & Sound Engine Analysis” ให้คุณเลือกชมรถยนต์เสมือนจริงออนไลน์รายแรกในไทย ทั้งภาพและเสียงในรูปแบบ 360 องศา พร้อมรับประกันคุณภาพรถนานถึง 1 ปี หรือ 30,000 กิโลเมตร! อีกทั้งยังการันตีความพึงพอใจ คืนเงินได้ภายใน 5 วันอีกด้วย! เรามีรถให้คุณเลือกชมเพียบ เปิดบริการทุกวัน ซื้อรถคุณภาพเยี่ยม ต้องที่ CARRO Automall สิ!

หรือถ้าหากสนใจรถรุ่นไหนอยู่ แต่ยังหาที่ถูกใจไม่ได้ เรายินดีหาให้! เพียงแค่กรอกเบอร์โทรศัพท์ ชื่อยี่ห้อ / รุ่นรถ ที่คุณต้องการก็ได้เช่นกันครับ อีกทั้งยังสามารถ Inbox เข้ามาสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook -> CARRO Automall Official โทร. 02-508-8690 หรือทาง Line @carroautomall ครับ

แหล่งที่มาบางส่วนจาก: