ขับเคลื่อนล้อหน้า,-ขับเคลื่อนล้อหลัง

มาทำความรู้จัก “ขับเคลื่อนล้อหน้า” และ “ขับเคลื่อนล้อหลัง” กัน

ขับหน้า-VS-ขับหลัง

เชื่อว่าคนใช้รถมือสอง หลายๆ คน ต้องเคยได้ยินคำว่า “ขับเคลื่อนล้อหน้า”, “ขับเคลื่อนล้อหลัง”, “FF”, “FR” หรืออะไรทำนองนี้ มาก่อนแล้วแน่ๆ และรู้ไหมว่า ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลังนั้น นอกจากจะมีข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกันแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้ราคารถมือหนึ่ง และรถมือสองแต่ละรุ่น สูงต่ำต่างกันอีกด้วย!

เพื่อให้การเลือกซื้อรถมือสองของคุณง่ายกว่าเดิม และตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานมากที่สุด บทความนี้จึงช่วยรวบรวมรายละเอียดของระบบขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลัง รวมถึงเปรียบเทียบจุดเด่นจุดด้อย เพื่อเป็นตัวช่วยในการเลือกซื้อรถมือสองของคุณ

มาดูกันว่า ระบบขับเคลื่อนของรถมือสองแบบไหน ที่จะตรงใจ และตรงตามการใช้งานของคุณมากที่สุด!

ขับหน้า-VS-ขับหลัง

ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า (FWD: Front Wheel Drive)

เป็นระบบขับเคลื่อนแบบที่พบมากที่สุดในบรรดารถยนต์ที่ผลิตออกมาในปัจจุบันก็ว่าได้ โดยเฉพาะรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่ รถตลาด และอีโคคาร์รุ่นต่างๆ รถที่ขับเคลื่อนล้อหน้า จะมีจุดสังเกตตรงที่เพลาขับเคลื่อน จะต่อกับชุดเกียร์โดยตรงแล้วเชื่อมกับล้อหน้าทั้งสองข้าง ทำให้เพลาหน้าของรถมีหน้าที่ในการบังคับเลี้ยว และรับกำลังที่ส่งผ่านมาจากเกียร์ด้วย

ขับหน้า-FF-T

นอกจาก FWD ซึ่งเป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกกันแบบสากลแล้ว หลายคนน่าจะเคยเห็นอักษรย่อ FF (Front Engine Front Wheel Drive) มาก่อน FF คือรูปแบบการวางเครื่องยนต์ไว้ด้านหน้า ขนานกับส่วนหน้าของรถยนต์ และใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ทำให้หลายคนอุปมาว่า ระบบส่งกำลังแบบนี้ ก็เหมือนกับการออกแรงดึงรถให้เคลื่อนไปข้างหน้านั่นเอง

ตัวอย่าง รถมือสองขับเคลื่อนล้อหน้าที่คุ้นเคยกันดีในแวดวงรถมือสอง ที่ได้รับความสนใจอย่างมากบนเว็บไซต์สื่อกลางซื้อขายรถยนต์มือสองคาร์โร ก็คือรถญี่ปุ่นรุ่นยอดนิยมอย่าง Honda Civic, Toyota Corolla AltisHonda Accord ฯลฯ นั่นเอง

ขับหน้า-FF-L

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นเลย ที่รถญี่ปุ่นจะต้องเป็นรถขับหน้าทุกรุ่น เพราะรถเก๋งขนาด Full-Size หรือรถกระบะ ก็ยังคงใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังอยู่ และรถยุโรปบางรุุ่น (มักจะเป็นรถเล็ก) ก็นิยมผลิตรถที่ขับเคลื่อนล้อหน้าออกมาขายเช่นกัน เช่น Mercedes Benz A-Class และ Mini Cooper เป็นต้น นอกจากนี้รถ SUV ส่วนใหญ่ ก็มักเป็นรถที่ขับเคลื่อนล้อหน้า แต่จะสามารถเปลี่ยนเป็นขับเคลื่อนสี่ล้อได้โดยอัตโนมัติ เช่น Honda CR-V เป็นต้น

Toyota-Sprinter-Trueno-AE86

ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง (RWD: Rear Wheel Drive)

เราจะพบว่า รถมือสองขับเคลื่อนล้อหลังที่เห็นได้ตามท้องถนนในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักจะเป็นรถยุโรป และสปอร์ตคาร์ รวมถึงรถกระบะเป็นส่วนใหญ่ รถที่ขับเคลื่อนล้อหลัง อาจจะแบ่งตามตำแหน่งการวางเครื่องยนต์ได้ดังนี้

ขับหลัง-FR

– FR (Front Engine Rear Wheel Drive) คือรถที่ขับเคลื่อนล้อหลัง แต่มีการวางเครื่องยนต์ตามยาวไว้ด้านหน้า แล้วส่งกำลังผ่านเพลากลางไปยังเฟืองท้าย กระจายกำลังไปยังล้อหลังทั้งสองข้าง มักพบได้ในรถยุโรปรุ่นใหญ่ๆ และหรูหรา เช่น Mercedes Benz C-Class, E-Class และ S-Class เป็นต้น

ขับหลัง-FMR

– FMR (Front Midship Engine Rear Wheel Drive) คือรถที่ขับเคลื่อนล้อหลัง และเครื่องยนต์ก็ยังวางไว้ด้านหน้า แต่พยายามร่นระยะของตำแหน่งการวางเครื่องยนต์ให้ถอยหลังมามากที่สุด โดยเครื่องยนต์จะถูกวางไว้หลังแนวเพลาล้อหน้า ซึ่งจะทำให้รักษาสมดุลระหว่างตัวถังด้านหน้าและด้านหลังได้มากกว่า ตัวอย่างก็เช่น Honda S2000, Mazda RX-8, Ferrari F12 Berlinetta เป็นต้น

ขับหลัง-RMR-T

– MR (Mid Engine Rear Wheel Drive) คือรถขับเคลื่อนล้อหลังที่เครื่องยนต์ถูกวางไว้ตรงกลาง อาจจะวางขวางหรือวางตามยาวก็ได้ เป็นรูปแบบการวางเครื่องยนต์ที่ทำให้รถกระจายน้ำหนักได้ดีที่สุด ตัวอย่างรถแบบนี้ก็คือ Toyota MR2, Honda NSX นั่นเอง

ขับหลัง-RR

– RR (Rear Engine Rear Wheel Drive) คือรถขับเคลื่อนล้อหลังที่วางเครื่องยนต์ไว้ด้านท้าย โดยมีเกียร์อยู่ด้านหน้า เครื่องยนต์จึงมักเป็นเครื่องขนาดเล็กและไม่มากชิ้น เราจะเห็นได้จากบรรดาสปอร์ตคาร์ ที่มักจะดีไซน์ด้านหน้าให้ลาดลงสุดๆ เพื่อลดแรงเสียดทาน ตัวอย่างก็คือรถตระกูล Porsche บางรุ่น หรือ Volkswagen Beetle รุ่นเก่า เป็นต้น

รหัสย่อที่กล่าวมานี้ คือ Layout หรือโครงร่างของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนล้อหลัง ซึ่งคุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการทำงานของเลย์เอาต์แต่ละแบบได้ ที่นี่

Toyota-MR2

ข้อดี – ข้อด้อย ของระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อนล้อหลัง

ขับเคลื่อนล้อหน้า (FWD) ขับเคลื่อนล้อหลัง (RWD)
ราคา ถูกกว่า เพราะใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่า ทำให้รถมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า แพงกว่า เพราะรถมีระบบส่งกำลังที่ซับซ้อนกว่า และใช้ชิ้นส่วนมากกว่า แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ค่าซ่อมบำรุงสูงกว่าด้วย
ความทนทาน ทนทานน้อยกว่า เพราะเพลาหน้าต้องรับหน้าที่เลี้ยว หมุน และรับกำลังที่ส่งมาจากเกียร์ จึงทำให้ทั้งเพลาและยางล้อหน้ามีโอกาสที่จะสึกหรอเร็วกว่า

*ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาด้วย*

ทนทานกว่า เพราะมีการกระจายแรงไปยังส่วนต่างๆ ได้ดีกว่า
การประหยัดเชื้อเพลิง ประหยัดน้ำมันมากกว่า เพราะสูญเสียกำลังเครื่องยนต์น้อยกว่า และรถมีน้ำหนักเบากว่า สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่า เพราะต้องส่งกำลังผ่านเพลากลาง ทำให้ต้องใช้กำลังมาก
การใช้พื้นที่ห้องโดยสาร ใช้น้อยมาก เพราะระบบเครื่องยนต์มักมีขนาดกะทัดรัดและอยู่ด้านหน้ารถ ทำให้เสียพื้นที่ห้องโดยสาร เพราะต้องมีอุปกรณ์เพื่อส่งกำลังไปยังล้อหลัง หากติดตั้งเครื่องยนต์ตรงกลางหรือท้ายรถก็จะยิ่งกินพื้นที่ห้องโดยสารมาก
ความสมดุลในการเข้าโค้ง สมดุลมากกว่าเพราะการวางเครื่องยนต์ไว้ที่ด้านหน้าของรถทำให้ล้อหน้ามีแรงยึดเกาะ (Traction) สูง กว่า แต่ก็อาจเกิด Understeer (หน้าดื้อ) ได้ ทำให้โค้งแล้วหลุดหรือแหกโค้ง สมดุลน้อยกว่า อาจมีอาการ Oversteer (ท้ายปัด) ได้ ซึ่งจะควบคุมได้ยากกว่า
ความสมดุลเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ สมดุลดีกว่า เนื่องจากทำอัตราเร่งช่วงต้นได้เร็วกว่าและดีกว่า แต่เป็นข้อเสียด้วยเช่นกันเพราะทำให้แรงยึดเกาะช่วงออกตัวมีน้อย เพราะน้ำหนักจะถ่ายเทไปด้านหลัง (นึกภาพดึงรถจากด้านหน้า) สมดุลน้อยกว่าในเครื่องแบบ FR แต่เครื่องแบบ อื่นๆ ก็ดีพอๆ กับขับหน้า แต่อาจจะให้ความรู้สึกหนักหน่วงกว่าตอนออกตัว (นึกภาพดันรถจากด้านหลัง)
ความสมดุลเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วสูง สมดุลน้อยกว่า เพราะน้ำหนักกระจายตัวไม่ดี ซึ่งเป็นผลให้ควบคุมรถขณะเบรกได้ยากกว่า ทรงตัวได้ดีกว่าเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วสูง

ระบบขับเคลื่อนแบบไหน เหมาะกับใคร

จากการเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า รถที่ขับเคลื่อนล้อหน้า เหมาะกับการขับขี่ระยะสั้นด้วยความเร็วต่ำมากกว่า ดังนั้น จึงเหมาะกับผู้ขับขี่ที่อยู่ในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรติดขัด เพราะรถกินน้ำมันน้อยกว่า รวมถึงสามารถใช้พื้นที่ในห้องโดยสารได้มากกว่าอีกด้วย

ส่วนรถที่ขับเคลื่อนล้อหลัง หากไม่ใช่รถที่ใช้ในกิจกรรมบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น ใช้แข่งขันความเร็วในสนามแข่งรถ ก็เป็นรถที่เหมาะสมกับการขับขี่บนถนนโล่งๆ ที่สามารถทำความเร็วได้ จึงน่าจะเหมาะกับคนที่เดินทางไกลบ่อย คนต่างจังหวัดที่ไม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์รถติด หรือคนรักสปอร์ตคาร์ที่มีรถไว้ขับเล่นเป็นครั้งคราว ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้รถในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม รถขับหลังก็เป็นรถที่สามารถใช้ขับขี่ในเมืองได้อย่างไม่เป็นปัญหา ดังที่เราเห็นได้จากรถยุโรปจำนวนมาก ที่ขับอยู่บนถนนในกรุงเทพฯ แต่คนขับต้องมีทักษะในการบังคับรถพอสมควร เพราะรถขับหลังมักมีน้ำหนักมากกว่ารถขับหน้า และอาจเกิดอาการท้ายปัดขึ้นได้เวลาเข้าโค้ง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

Honda-Jazz

รถขับหน้า – รถขับหลัง มีวิธีดูอย่างไร

หลายคนอาจจะมีคำถามในใจว่า จะรู้ได้อย่างไร ว่ารถคันไหนขับเคลื่อนล้อหน้า หรือล้อหลัง? วิธีการดูง่ายๆ มี 2 แบบคือ

ดูจากการวางเครื่องยนต์ ปกติแล้ว รถที่ขับเคลื่อนล้อหลังส่วนใหญ่จะวางเครื่องตามยาว ส่วนรถขับเคลื่อนล้อหน้ามักจะวางเครื่องตามขวาง ขนานไปกับส่วนหน้าของรถ (แต่ก็จะมีรถบางรุ่น ที่วางเครื่องยนต์ตามแนวยาว แต่ขับเคลื่อนล้อหน้าเช่นกัน เช่น Audi หรือ Subaru รุ่นขับหน้าบางรุ่น)

ดูจากเพลา รถที่ขับเคลื่อนล้อหน้า เพลาจะต่อกับชุดเกียร์ออกสู่ล้อหน้าทั้ง 2 ข้าง ในขณะที่รถขับเคลื่อนล้อหลังจะมีเพลากลางและเฟืองท้าย เมื่อพิจารณาประกอบกับรูปแบบการวางเครื่องยนต์แบบต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็จะสามารถบอกระบบขับเคลื่อนได้แน่นอนกว่า

ถือว่าครบถ้วนชัดเจนสำหรับบทความ ขับหน้า VS ขับหลัง หากท่านใดสนใจอยากหาความรู้กับบทความดีๆ เพิ่มเติม สามารถรับชมต่อได้ใน https://th.carro.co/blog2/ ได้เลย

ขอขอบคุณภาพประกอบระบบขับเคลื่อนจาก Wikipedia