10-BMTA-Bus-Wait-Long-Time

คุณเคยรอรถเมล์นานที่สุดกี่ชั่วโมง?

ในวันที่ข่าวการขึ้นราคาค่ารถเมล์กำลังเป็นที่ฮือฮา เพราะคุณภาพชีวิตของคนนั่งรถเมล์หลายคน ยังมีชีวิตการขึ้นรถเมล์เหมือนเดิม คนแน่น รถน้อย รอนาน กะเวลารอไม่ได้ เพราะปัญหาที่หมักหมมมานาน ขาดการเหลียวแลจากภาครัฐมาหลายสิบปี โดยมีแต่คำอ้างว่า “ขาดทุน” มาโดยตลอด

ทำให้คนส่วนใหญ่ เมื่อมีทางเลี่ยง ก็หันไปขึ้นรถไฟฟ้าราคาแสนแพง หรือขี่รถจักรยานยนต์ ขับรถยนต์ส่วนตัว ออกมาอัดกันจนแน่นถนน ในช่วงเวลาเร่งด่วน

แม้ที่ผ่านมา ขสมก. จะเปิดรถเมล์สายใหม่ๆ และรื้อฟื้นบางสายที่เลิกวิ่งไปแล้วกลับมาวิ่งใหม่ เมื่อมีเส้นทางถนนตัดใหม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่รถเมล์ก็ยังคงไม่พอ รอนาน และวิ่งไม่ทั่วถึง จนผู้โดยสาร (บางคน) รอไม่ไหวจะใช้บริการ

แต่ถ้าคุณเป็นคนชอบการรอคอย MR.CARRO ขอแนะนำ 10 สายรถเมล์ของ ขสมก. ที่รอนานที่สุด ฉบับ Update ปี 2562 (เรียงตามหมายเลขสาย จากน้อยไปมาก) มีเส้นทางไหน วิ่งผ่านจุดใด จำนวนรถเท่าไหร่

เผื่อคุณสนใจจะไปยืนรอ ในวันที่มีเวลาว่างมากพอ.

26 มีนบุรี – เอกมัย

BMTA-Bus-Route-26

ภาพจาก Kittipich Konganandech

แรกเริ่มเดิมที สายนี้คือ 26ก มีนบุรี – เอกมัย เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2553 ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้รถเมล์มีวิ่งบนถนนประดิษฐ์มนูธรรม และทดแทนรถเมล์สาย 154 ที่เลิกวิ่งไปแล้ว กับต้องลดจำนวนรถเมล์ฟรีที่วิ่งในเส้นทางหลักอย่าง มีนบุรี – อนุสาวรีย์ชัย ไปในตัว แต่ก็สร้างวีรกรรม ในการไม่รับผู้โดยสารบนถนนเส้นนี้ ไว้มากพอสมควร

ในช่วงปลายปี 2560 ทางเขตการเดินรถที่ 2 ได้นำตัว “ก” ออก ก็เลยกลายเป็น สาย 26 มีนบุรี – เอกมัย นับแต่นั้นมา หากใครที่จะไปเอกมัย ต้องสังเกตป้ายหน้ารถให้ดี ไม่งั้นขึ้นผิดคันได้ เอาให้มันงงเล่นแบบนี้ล่ะ รอก็นานมากๆ เพราะจะออกมาแค่ช่วงเช้า-เย็น

ในปี 2562 สาย 26 มีนบุรี – เอกมัย มีจำนวนรถวิ่งที่ไม่แน่นอน ในแต่ละวัน

64 อู่นครอินทร์ – สะพานพระปิ่นเกล้า (ขสมก. วิ่งถนนราชพฤกษ์)

BMTA-Bus-Route-64

ภาพจาก Pattalan Chuthamanee

รถเมล์สายนี้ วิ่งโดยเขตการเดินรถที่ 7 แต่ก็มีจำนวนรถเพียงไม่กี่คัน เส้นทางหลักๆ อยู่บนถนนราชพฤกษ์ ซึ่งปกติเป็นถนนที่คนรอขึ้นรถเมล์น้อยอยู่แล้ว โดยจะได้คนมากหน่อย ก็ช่วงเช้า-เย็น มากกว่าเวลาอื่นๆ

จุดเริ่มต้นของ สาย 64 อู่นครอินทร์ – พระปิ่นเกล้า ที่ดำเนินการโดย ขสมก. เกิดขึ้นมาเพื่อให้สาย 64 เดินรถได้ครบถ้วนตามสัมปทาน

(เดิมสาย 64 ขสมก. ขายสัมปทานไปในช่วงปรับลดขนาดขององค์กรในปี 2541-2543 โดยให้รถร่วมบริการวิ่ง ภายหลัง กรมการขนส่งทางบกปรับเส้นทางแบบวงกลม เป็น วงกลมนนทบุรี – สนามหลวง – ราชพฤกษ์ เมื่อรถร่วมบริการไม่วิ่ง ขสมก. จึงต้องจัดรถสายนี้เพื่อให้วิ่งตามสัมปทานแทน มิฉะนั้นจะถูกปรับ)

ในปี 2562 สาย 64 อู่นครอินทร์ – สะพานพระปิ่นเกล้า เหลือรถวิ่งเพียง 1 คัน

88 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน – ท่าดินแดง

BMTA-Bus-Route-88

ภาพจาก Phachara Pornarunchai‎

แต่เดิมนั้นรถเมล์สาย 88 เป็นรถของรถร่วมบริการ บริษัท ธิติวัชขนส่ง จำกัด เลิกวิ่งไปแล้ว ทาง ขสมก. จึงจำเป็นต้องจัดหารถมาวิ่งแทน เพื่อรักษาเส้นทางสัมปทานเอาไว้

จากเดิมที่สุดสายตรงแฟลตทุ่งครุ ปรับเปลี่ยนเส้นทางเข้าไปยัง วัดคลองสวน, อบต. คลองสวน และต่อมาขยายเส้นทางไปจนถึง มจธ. บางขุนเทียน ซึ่งมีระยะทางไกลมากๆ

ในปี 2562 สาย 88 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน – ท่าดินแดง เหลือรถวิ่งเพียง 5 คัน แต่วิ่งจริงๆ เพียง 2 คัน/วัน เพราะรถเมล์อีก 3 คัน ไปช่วยสาย 75 วิ่ง

143 แฮปปี้แลนด์ – พระจอมเกล้าลาดกระบัง

BMTA-Bus-Route-143

ภาพจาก Chanon Lekanupanon‎

แต่เดิมนั้นรถเมล์สาย 143 เป็นรถของรถร่วมบริการ บริษัท ลาดกระบัง จำกัด เลิกวิ่งไปแล้ว ทาง ขสมก. จึงจำเป็นต้องจัดหารถมาวิ่งแทน เพื่อรักษาเส้นทางสัมปทานเอาไว้ เริ่มให้บริการในวันที่ 10 มกราคม 2556 โดย ขสมก. กลุ่มปฏิบัติการเดินรถที่ 1 เขตการเดินรถที่ 2 อู่มีนบุรี

เริ่มแรกวิ่งในเส้นทาง มีนบุรี – เคหะฉลองกรุง (ซึ่งเป็นเส้นทางเสริมของสาย 143 เดิม ภายหลังเป็น 143ก) ต่อมาจึงขยายเส้นทางไปเป็น แฮปปี้แลนด์ – พระจอมเกล้าลาดกระบัง

ในปี 2562 สาย 143 แฮปปี้แลนด์ – พระจอมเกล้าลาดกระบัง เหลือรถวิ่งเพียง 1 คัน

165 อู่บรมราชชนนี – พุทธมณฑลสาย 3 – สนง.เขตบางกอกใหญ่

BMTA-Bus-Route-165

ภาพจาก Ritthi Phosiyamanee‎

รถเมล์สาย 165 ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ในเส้นทาง พุทธมณฑลสาย 3 – สนามหลวง (วิ่งเส้นถนนเพชรเกษม) เป็นรถเมล์สายที่หาขึ้นยากอีกหนึ่งสาย และเส้นทางเหมือนคู่แฝดอย่างสาย 91ก อีกทั้งยังเปลี่ยนเส้นทางบ่อยครั้งมาก

ในปี 2546 ขสมก. ได้มีมติขยายเส้นทางสาย 165 ให้ยาวขึ้นเป็น พุทธมณฑลสาย 3 – บรมราชชนนี – สนามหลวง ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2549 เปลี่ยนเส้นทางเป็น พุทธมณฑลสาย 2 – เขตบางกอกใหญ่ ในเดือนมกราคม 2551 ปรับเส้นทางเป็น พุทธมณฑลสาย 2 – ศาลาธรรมสพน์ – เขตบางกอกใหญ่ และในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เปลี่ยนเส้นทางอีก เป็น พุทธมณฑลสาย 2 – พุทธมณฑลสาย 3 ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น อู่บรมราชชนนี – พุทธมณฑลสาย 3 – สนง.เขตบางกอกใหญ่ ตามอู่ที่ย้ายไปใหม่

ในปี 2562 สาย 165 อู่บรมราชชนนี – พุทธมณฑลสาย 3 – สนง.เขตบางกอกใหญ่ เหลือรถวิ่งเพียง 8 คัน แต่วิ่งจริงๆ เพียง 3 คัน/วัน เพราะรถเมล์อีก 5 คัน ไปช่วยสายวิ่งสาย 7ก

197 (วงกลม) มีนบุรี – หทัยราษฎร์

BMTA-Bus-Route-197

ภาพจาก N’James Cac

สาย 197 แรกเริ่มเดิมทีเป็นรถเมล์ วงกลมทดลองวิ่ง (สาย B1 / B2) วิ่งวนซ้าย วนขวา ที่กลุ่มปฏิบัติการเดินรถที่ 1 เขตการเดินรถที่ 2 อู่มีนบุรี ทดลองวิ่ง เพื่อให้มีรถเมล์บริการบนถนนหทัยราษฏร์ ถนนเลียบคลองสอง และถนนคู้บอน จนกลายมาเป็นรถเมล์สาย 197 ที่เริ่มวิ่งให้บริการในวันที่ 12 กันยายน 2556

โดยเส้นทางนี้ มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 2 แสนคน (ยอดเมื่อปี 2556) แต่ยังไม่มีรถเมล์ให้บริการ มีเพียงรถสองแถว และรถตู้ ซึ่งก็มีผู้ประกอบการรถสองแถวประท้วง อ้างว่า จะเกิดผลกระทบต่อรถสองแถวที่ให้บริการ และปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวก็มีรถติดอยู่แล้ว

ในปี 2562 สาย 197 (วงกลม) มีนบุรี – หทัยราษฎร์ เหลือรถวิ่งเพียง 1 คัน

525 สวนสยาม – คู้ซ้าย – หมู่บ้านเธียรทอง 3

BMTA-Bus-Route-525

ภาพจาก วันชัย ห่อรัตนาเรือง

525 แต่เดิมคือ ปอ.28 ที่เปิดมาพร้อมๆ กับ ปอ.29 ที่ถูกยุบเส้นทางไป (ปัจจุบันคือสาย 526) เพื่อให้มีรถเมล์วิ่งบริการในย่านหนองจอก ถนนคู้ซ้าย ถนนคู้ขวา (ถนนทั้ง 2 เส้นนี้ เป็นถนนที่วิ่งเลียบไปกับคลองแสนแสบ ตั้งแต่มีนบุรี ถึงหนองจอก)

แม้ว่าสาย 525 และ 526 ปัจจุบันจะเป็นรถเมล์ครีม-แดง ที่เริ่มกลับมาวิ่งอีกครั้งช่วงประมาณปี 2554 ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นรถเมล์ที่มีความสำคัญของชาวหนองจอก และชาว ขสมก. อีกสาย เพราะหมู่บ้านเธียรทอง 3 เป็นหมู่บ้านที่พนักงาน ขสมก. อาศัยอยู่มาก สาย 525 จึงมาสุดสายที่นี่ เสมือนเป็นรถรับ-ส่งพนักงานไปในตัว

ในปี 2562 สาย 525 สวนสยาม – คู้ซ้าย – ม.เธียรทอง 3 เหลือรถวิ่งเพียง 4 คัน

710 (วงกลม) ตลิ่งชัน – ราชพฤกษ์ – อรุณอมรินทร์

BMTA-Bus-Route-710

ภาพจาก Kittipich Konganandech

สาย 710 กับตัวเลขที่ไม่คุ้นเคยของคนรอ ด้วยเส้นทางที่เน้นวิ่งในถนนราชพฤกษ์เป็นหลัก รวมทั้งวิ่งเป็นวงกลมแบ่งเป็นวนซ้ายและวนขวา สร้างความสับสนให้กับผู้ใช้บริการไม่น้อย แล้วมีจำนวนรถที่น้อย จึงทำให้มีผู้ใช้บริการน้อยมาก เท่าที่เห็น คนใช้บริการรถเมล์สายนี้เยอะอยู่เพียงแค่ช่วงหน้าโรงพยาบาลศิริราช กับตรงวังหลัง เท่านั้น เพราะสามารถทดแทนรถเมล์สาย 57 ได้

เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2556 ปล่อยรถชั่วโมงละ 1 คัน ยกเว้นช่วง 6.00 – 7.00 น. และช่วง 17.00 – 18.00 น. จะปล่อยรถชั่วโมงละ 2 คัน (ใครรอไหวก็รอกันไป)

เป็นสายรถเมล์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจาก กรมการขนส่งทางบก คิดปฏิรูปรถเมล์ในปี 2552 พร้อมกับรอรถเมล์ใหม่ในช่วงนั้น โดยใช้เลขสายตั้งแต่ 600-755 ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ฉบับที่ 1950 (พ.ศ. 2552) ต่อมาโครงการก็ล้มไม่เป็นท่า โดย ขสมก. ก็มีนโยบายที่ต้องการนำรถเมล์ฟรีไปเปิดสายใหม่ๆ อยู่แล้ว สาย 710 วงกลมอรุณอมรินทร์ – ถ.กาญจนาภิเษก ถึงเกิดขึ้น และดำเนินงานโดย เขตการเดินรถที่ 5

ในปี 2562 สาย 710 (วงกลม) ตลิ่งชัน – ราชพฤกษ์ – อรุณอัมรินทร์ เหลือรถวิ่งเพียง 8 คัน แต่วิ่งจริงๆ เพียง 2 คัน/วัน เพราะรถเมล์อีก 6 คัน ไปช่วยสายวิ่งสาย 7ก

720 (วงกลม) กัลปพฤกษ์ – พระราม 2

BMTA-Bus-Route-720

ภาพจาก Chanon Lekanupanon

สาย 720 ดำเนินการโดยเขตการเดินรถที่ 5 สลับวิ่งวนซ้ายและวนขวา โดยรถเมล์สายนี้ จะได้คนเยอะหน่อยก็ช่วงถนนเพชรเกษมเท่านั้น หลังจากนั้นก็วิ่งขายเบาะ

สาย 720 แต่เดิมนั้นคือรถเมล์สาย 193 ที่เปิดขึ้นมาใหม่ตามกำหนดของประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ในเดือนสิงหาคม 2550 เพื่อให้ผู้โดยสารมีรถเมล์ไปยังถนนกัลปพฤกษ์ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากรถมีน้อย หลังจากที่กรมการขนส่งทางบก ปฏิรูปรถเมล์ในปี 2552 พร้อมกับรอรถเมล์ใหม่ในช่วงนั้น โดยใช้เลขสายตั้งแต่ 600-755 รถเมล์สาย 193 จึงเปลี่ยนเลขสายเป็น 720 ในภายหลัง

ในปี 2562 สาย 720 (วงกลม) กัลปพฤกษ์ – พระราม 2 เหลือรถวิ่งเพียง 2 คัน

751 สะพานพระราม 4 – สถานีรถไฟฟ้า BTS บางหว้า

BMTA-Bus-Route-751

ภาพจาก Wisarut Hanpatthanakotchakorn‎

สาย 751 เดินรถโดยเขตการเดินรถที่ 7 อีกทั้งเส้นทางเดินรถที่ค่อนข้างยาว เราจึงแทบไม่เห็นใครรอขึ้นรถเมล์สายนี้้เลยในช่วงระหว่างทาง โดยจะได้คนแค่เพียงช่วงต้นสายและปลายสายเท่านั้น

เป็นสายรถเมล์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจาก กรมการขนส่งทางบก คิดจะปฏิรูปรถเมล์ในปี 2552 พร้อมกับรอรถเมล์ใหม่ในช่วงนั้น โดยใช้เลขสายตั้งแต่ 600-755 ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ฉบับที่ 1950 (พ.ศ. 2552) เริ่มวิ่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2556

สาย 751 นั้น วิ่งในส่วนของถนนราชพฤกษ์เกือบตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ช่วงบางหว้า ก่อนจะเลี้ยวเข้าไปถนนชัยพฤกษ์ สุดสายที่บริเวณใต้สะพานพระราม 4 (ฝั่งถนนชัยพฤกษ์) ซึ่งนับว่าเป็นการเดินทางที่สะดวกมากๆ ของคนที่อยู่ในย่านปากเกร็ด แล้วต้องการเข้าเมืองมาต่อรถไฟฟ้าบริเวณ BTS บางหว้า ไม่ต้องเสียเวลารถติดในเมือง (แต่ไปติดนอกเมืองแทน!)

ในปี 2562 สาย 751 สะพานพระราม 4 – สถานีรถไฟฟ้า BTS บางหว้า เหลือรถวิ่งเพียง 3 คัน

*หมายเหตุ 10 สายรถเมล์รอนานนี้ เป็นการรวบรวมสอบถาม สายรถเมล์ที่คนรอรถเมล์นาน จากผู้โดยสารรถเมล์ ในเดือนพฤษภาคม 2562 เท่านั้น

ถ้าเบื่อรอรถเมล์แล้ว อยากซื้อรถใหม่ แต่มีงบไม่พอ หรืออยากขายรถเก่าออกแบบไวที่สุด ได้เงินเร็วที่สุด เพื่อนำเงินไปโปะรถคันใหม่ ก็ให้ CARRO เป็นผู้ช่วยมืออาชีพของคุณ …

ถ้าคุณอยากขายรถคันเดิม เพื่อไปซื้อรถคันใหม่ หรือรับเงินก้อนไปใช้ สามารถขายรถคันเก่ากับ CARRO ได้ ง่ายๆ ได้เงินไว! กับ CARRO Express เพียงแค่คลิก https://th.carro.co/sell-car/express หรือสามารถ Inbox มาขอรายละเอียดได้ที่ Facebook CARRO Thailand

หรือจะ Add Line สอบถามรายละเอียดได้ที่ @Carrothailand หรือคลิกที่นี่ครับ —> เพิ่มเพื่อน