Burnout Syndrome ไม่ได้ขี้เกียจ ไม่ใช่โรคซึมเศร้า แค่หมดไฟในการทำงาน

เคยเป็นไหมในตอนทำงานกับอาการ “เปื่อย” แม้รู้ดีว่ารีบแค่ไหนแต่ไฟในการทำงานมันเหมือนมอดดับลง แบบนั้นเรียกว่าคุณกำลังอยู่ในอาการ Burnout Syndrome เรื่องราวของการเจ็บป่วยที่แอบแฝงอยู่กับชีวิตการทำงานที่หลายคนไม่รู้มาก่อนเลยว่าตัวเองกำลังมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วย “ภาวะหมดไฟในการทำงาน!”

โรคนี้เกิดขึ้นจากไหน มีลักษณะอย่างไร น่ากลัวแค่ไหนต่อร่างกาย และเราสามารถป้องกันการเจ็บป่วยในรูปแบบนี้ได้หรือไม่ หรือว่ามีวิธีการรักษาดูแลอาการอย่างไร มาทำความรู้จักกับการต่อยอดของ ออฟฟิศ ซินโดรม สู่ Burnout Syndrome กันดีกว่า ซึ่งมีผลต่อคุณมากเลยทีเดียว

รู้จักกับ Burnout Syndrome ภาวะหมดไฟในการทำงาน

Burnout Syndrome คืออะไร? อาการเจ็บป่วยที่เรียกว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากแต่เดิม มนุษย์เราทำงานในวิถีกสิกรรม ก่อนยกระดับมาเป็นการทำงานในภาคอุตสาหกรรมพร้อมทั้งการทำงานด้านเอกสารและ IT ที่ต้องขลุกอยู่แต่ในออฟฟิศตลอดเวลา และการทำงานในรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ เหล่านี้กลายเป็นที่มาของปัญหาที่เรียกอาการเหล่านี้ว่า “หมดไฟในการทำงาน”

ซึ่งทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหานี้มาก เพราะเจ้าโรคอุบัติใหม่ตัวนี้กำลังเป็นเนื้อร้ายที่กัดกร่อนพลังความสามารถของมนุษย์ทั่วไปที่โหมทำงานหนักมากเกินจนเกิดภาวะตื้อตันจนไม่อยากทำอะไรอีกต่อไป และมันกลายเป็นเหมือนเชื้อไฟที่พากันลุกลามจนเป็นสาเหตุก่อให้เกิดปัญหาโรคซึมเศร้า

โดยประเทศที่ถูกภาวะหมดไฟในการทำงานโจมตีอย่างหนักได้แก่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่พนักงานบริษัททำงานหนักยิ่งกว่าหนูถีบจักร มีภาวะบีบคั้นทางอารมณ์สูงมากจึงก่อให้เกิดปัญหา Burnout Syndrome ตามมา และกลายเป็นบทสรุปที่น่าเศร้าในหลายต่อหลายครั้ง

ซึ่งในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้ลุกลามเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ไม่เพียงแต่ผู้คนในวัยทำงานที่ประสบกับปัญหานี้เท่านั้น ยังรวมไปถึงเด็กนักเรียนที่ถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียนหนังสืออย่างหนักก็มีสิทธิ์ที่จะมีภาวะหมดไฟลงไปได้เช่นกัน ซึ่งทุกคนควรหันมาใส่ใจกับภาวะเหล่านี้

Burnout Syndrome ไม่ได้ขี้เกียจ ไม่ใช่โรคซึมเศร้า แค่หมดไฟในการทำงาน

สาเหตุหลักของอาการ “หมดไฟในการทำงาน”

สำหรับอาการเจ็บป่วยในรูปแบบของ Burnout Syndrome เป็นอาการเจ็บป่วยจากสภาพจิตใจเป็นหลัก โดยปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นมาจากการหักโหมทำงานหนักมากจนเกินไป รวมถึงปริมาณงานที่มีมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว งานที่ดูเหมือนไม่มากแต่มีความละเอียดและซับซ้อนของโครงสร้างสูงก็สามารถก่อให้เกิดภาวะนี้ได้

นอกจากนั้นแล้ว การได้รับมอบหมายงานที่เยอะ หรือยุ่งยาก แต่มีความเร่งด่วนสูงย่อมก่อให้เกิดปัญหานี้ตามได้ด้วยเช่นกัน โดยการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานจะมาในรูปแบบของความเครียดสะสม ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับสังคมไทยที่หลาย ๆ บริษัทในทุกวันนี้เลือกจ้างคนทำงานเพียงน้อยนิดแต่ต้องรับผิดชอบเนื้องานจำนวนมากจนเกิดภาวะความเครียดสะสมแบบนี้ขึ้นมานั่นเอง

การเร่งรีบแข่งขันกันทางด้านการศึกษา เป็นการผลักดันให้เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวยุคใหม่เกิดภาวะความตึงเครียดทางด้านอารมณ์จากการเรียนที่ไม่มีวันสิ้นสุดนับตั้งแต่เล็กจนโต ทำให้เกิดอาการหมดไฟไม่อยากทำอะไร และต่อยอดต่อมาจนกลายเป็นอาการของโรคซึมเศร้าที่เป็นผลพวงของภาวะการเจ็บป่วยในรูปแบบนี้ ดังนั้นเรื่องของ Burnout Syndrome เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามโดยเด็ดขาด

Burnout Syndrome ไม่ได้ขี้เกียจ ไม่ใช่โรคซึมเศร้า แค่หมดไฟในการทำงาน

อาการไหนที่บ่งชี้ว่าคุณอยู่ในภาวะ Burnout Syndrome หรือเปล่า?

Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจ

ผลกระทบจากภาวะเครียดสะสมที่เกิดขึ้นจากการทำงานหรือการหมกมุ่นจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะเบื่อ ไม่อยากทำงานอีกต่อไป ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการแบ่งระดับของภาวะ Burnout Syndrome เป็น 3 ระดับใหญ่ๆ ด้วยกัน ดังนี้

  • ระดับเหนื่อยล้า

เมื่อนาฬิกาปลุกดังขึ้น มันคือความยากลำบากที่จะลุกไปทำงาน ระหว่างการเดินทางไปสู่ที่ทำงานเป็นเวลาอันแสนขมขื่น เมื่อไปถึงที่ทำงานแล้วเกิดภาวะตื้อ ตัน คิดอะไรไม่ออก เบื่อหน่ายในทุกสิ่งและทำงานแบบซังกะตาย ทั้งหมดนี้คือสัญญาณเริ่มต้นของภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome แม้ว่ายังคงสามารถประคับประคองให้ทำงานต่อไปได้ แต่ถึงกระนั้นประสิทธิภาพสำหรับการทำงานจะค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงไป งานเริ่มส่งช้า หรือไม่มีคุณภาพ ซึ่งถ้าไม่แก้ไขตั้งแต่ต้นย่อมมีผลต่อตัวบุคคลผู้กำลังเจอกับปัญหา Burnout Syndrome และองค์กรที่รับพวกเขาเข้าทำงานด้วย

  • ระดับทัศนคติเชิงลบ

เมื่อเริ่มมีความขุ่นข้องหมองใจในการทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือทัศนคติต่าง ๆ ที่มีเกี่ยวกับงานจะตกต่ำลง ผู้ป่วยเริ่มมองทุกอย่างในแง่ลบทั้งสิ้น แม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็กลายเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ได้ รวมไปถึงการมองผู้ร่วมงานคนอื่นในแง่ร้าย การมองดูที่ทำงานในมุมลบ ทั้งหมดนี้จะหล่อหลอมให้เกิดความรู้สึกห่อเหี่ยวภายในจิตใจ จนในท้ายที่สุดคือไม่ต้องการทำอะไรอีกต่อไปแล้ว

  • ระดับวิกฤต

ระดับนี้ถือเป็นระดับอันตรายที่สุดเพราะมีปัญหาเกี่ยวกับบุคลิกภาพและอารมณ์อย่างรุนแรง และมักมีปัญหาในเรื่องของอาการโรคซึมเศร้าเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย โดยในช่วงวิกฤตนี้จะมีปัญหาในการกระทบกระทั่งกันทางอารมณ์สูงมาก อาการโมโหเกรี้ยวกราด ไม่พอใจในสิ่งต่าง ๆ สูงขึ้นจนไม่อาจที่จะทำงานกับใครต่อไปได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาโดยทั่วไปคือการปลดพนักงานคนนั้นออกจากตำแหน่ง ไม่ใช่เป็นการดึงพนักงานคนนั้นออกมาแก้ไขปัญหา จนกลายเป็นการโยนปัญหาไปยังตัวผู้ป่วยในท้ายที่สุด

Burnout Syndrome ไม่ได้ขี้เกียจ ไม่ใช่โรคซึมเศร้า แค่หมดไฟในการทำงาน

การตรวจสอบว่าคุณกำลังหมดไฟในการทำงานหรือ Burnout หรือไม่?

เพื่อไม่ให้คุณต้องติดกับดักของการทำงานมากเกินไปจนหมดไฟในการทำงาน ลองเช็กตัวเองสักนิดเพื่อเป็นการประเมินผลตัวเองเบื้องต้นว่าเรากำลังมีความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งถ้าเรากำลังเข้าข่ายของผู้มีความเสี่ยงแล้วจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที ที่นี้เราจะรู้ได้ยังไงว่าเข้าข่ายคนที่กำลังจะหมดไฟ ต้องเช็กลิสต์ตรวจสอบสภาวะการ Burnout ซึ่งอาการมีดังนี้

  • หงุดหงิด โมโหง่าย
  • เริ่มไม่พอใจในที่ทำงาน
  • มองเพื่อนร่วมงานในแง่ลบ
  • ปัดปัญหา ไม่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
  • ขาดความกระตือรือร้น
  • ส่งงานสาย
  • งานถูกแก้ไขอยู่บ่อยครั้ง
  • มีงานที่ไม่เสร็จค้างสะสมอยู่มากเกินไป
  • ไม่อยากไปทำงาน

ถ้ามีอาการทั้งหมดหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของภาวะเหล่านี้ นั่นคือคุณกำลังเผชิญหน้ากับปัญหา Burnout Syndrome เข้าให้แล้ว ดังนั้นการจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้คือวิธีการที่ดีที่สุดก่อนที่มันจะกำเริบกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นต่อมาในอนาคต

แล้วภาวะหมดไฟในการทำงานรวมถึงการเรียน มีวิธีแก้อย่างไร?

อาการ Burnout แก้ไขได้ หากผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาเข้าใจกับสถานการณ์ของตนเอง ซึ่งมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ หัวใจสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาทั้งหมดคือการพักผ่อนที่ดี แม้ในความเป็นจริง การ Burnout นั้นมีผลกระทบที่ตามมาคือการนอนไม่หลับ ดังนั้นการฝึกตัวเองให้นอนเป็นเวลาย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แม้ว่าไม่หลับ แต่การได้นอนพักสายตาย่อมทำให้ความเครียดและความวิตกกังวลลดลงไปได้
  2. แบ่งเวลาให้เหมาะสม การทำงานที่ดีคือการจัดสรรเวลาให้ถูกต้อง การหอบงานกลับมาทำที่บ้านแบบหามรุ่งหามค่ำคือทางเลือกที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการทำงานที่เต็มพิกัดแล้ว ควรเลือกที่จะพักผ่อน เพื่อให้คุณสามารถจัดสรรเวลาการทำงานและการพักผ่อนได้อย่างลงตัว จะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  3. ปรึกษาแพทย์ ในกรณีที่แก้ไขปัญหาไม่ได้ การปรึกษาแพทย์นับเป็นทางเลือกที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อแพทย์จะได้ทำการวินิจฉัยสำหรับการรักษาไม่ว่าจะเป็นการปรับรูปแบบการใช้ชีวิต หรือการรับประทานยาเพื่อการรักษา เป็นต้น

ภาวะ Burnout Syndrome คือ เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม รู้เท่าทันปัญหาและรีบจัดการอย่างทันท่วงที จะทำให้คุณสามารถคงรักษาพลังในการทำงานได้อย่างมีความสุข และเพื่อให้การป้องกันเต็มไปด้วยประสิทธิภาพ เมื่อหมดไฟในการทำงานอาจทำให้คุณต้องเสี่ยงใกล้อุบัติเหตุมากขึ้น การมองหาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่ “รู้ใจ” ย่อมตอบโจทย์ความคุ้มครองที่ดีที่สุดให้กับคุณได้ ปรึกษาเราในเรื่องประกันจะช่วยให้คุณอุ่นใจในทุกเวลาแห่งการใช้ชีวิตได้เสมอ เพราะเราทำให้ประกันภัยเป็นเรื่องง่าย ไม่ซับซ้อน ราคาดี และเชื่อถือได้!

ติดตามข้อมูลข่าวสารและโปรโมชั่นใหม่ ๆ จากรู้ใจได้ทาง FB fan page: Roojai หรือ คลิก add Official Line ของเราไว้ได้เลย