การนำรถยนต์เข้าจอดตามสถานที่ต่างๆ เช่น อาคารชุด, สำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า, โรงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งในทางปฏิบัติ ทางฝ่ายอาคารสถานที่ มักมีบัตรจอดไว้ให้เสมอ และในบัตรฯ ก็มักมีข้อความที่สะดุดตาว่า “บริษัทฯ จะไม่รับผิดชอบในความเสียหาย สูญหายของทรัพย์สิน”

ข้อสงสัยที่เกิดกับเจ้าของรถยนต์ คือ หากทรัพย์สินและรถยนต์ที่จอดในอาคารสถานที่นั้นๆ เกิดสูญหายหรือเสียหาย จะสามารถเรียกร้องให้ทางฝ่ายอาคารสถานที่ ซึ่งให้บริการพื้นที่จอดรถยนต์แก่ผู้มาติดต่อธุระ รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ในเมื่อมีการปฏิเสธเป็นข้อความชัดเจนไว้แล้วในบัตร

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ คงทำให้ผู้อ่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ หากประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง

Car-Lost-In-Car-Park

เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงาน วิรัชมีนัดทานอาหารมื้อค่ำกับเพื่อนที่โรงแรมแห่งหนึ่ง และนำรถยนต์เข้าจอดในสถานที่ซึ่งทางโรงแรมจัดไว้ให้ โดยพนักงานโรงแรมได้จดหมายเลขทะเบียนลงในบัตรจอดรถยนต์ของโรงแรม และได้ส่งมอบบัตรนั้นให้วิรัชเก็บไว้

ในทางปฏิบัติ โรงแรมนี้มีพนักงานตรวจหมายเลขทะเบียนรถยนต์ในบัตรจอด ให้ตรงกับรถยนต์ที่จะออกจากโรงแรม และมีป้ายติดไว้ในบริเวณที่จอด มีข้อความชัดเจนว่า “บริการจอดรถยนต์ฟรี แต่ทางโรงแรมจะไม่รับผิดในทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการที่สูญหาย” ซึ่งวิรัชเองก็เห็นข้อความนี้แล้ว ขณะนำรถยนต์เข้าจอด

หลังจากเสร็จสิ้นอาหารมื้อค่ำ เขากลับมาที่รถยนต์เพื่อกลับบ้าน ปรากฎว่ารถยนต์หาย! สอบถามจากพนักงานโรงแรมพบว่า ผู้ตรวจสอบบัตรตอนขาออกบกพร่องในหน้าที่ ไม่ตรวจบัตรของคนร้ายที่ขับรถยนต์ของวิรัชออกไปจากโรงแรม

Car-Lost-In-Car-Park

กรณีนี้ศาลได้พิจารณาคดีแล้วได้ความว่า การที่โรงแรมเพียงแต่ยอมอนุญาตให้ผู้มาใช้บริการ นำรถยนต์เข้าจอดในที่จัดไว้ โดยมีพนักงานมอบบัตรตอนขาเข้าและตรวจบัตรตอนขาออก เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยให้ผู้มาใช้บริการเข้าจอดรถยนต์ดังกล่าว ไม่มีลักษณะเป็นการมอบการครอบครองรถยนต์ให้แก่ทางโรงแรม จึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ที่วิรัชจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย อันเนื่องจากผู้รับฝากไม่ใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ตามมาตรา 359 ดังนั้นวิรัชจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโรงแรม ฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์ได้

แต่การที่ทางโรงแรมจัดที่จอดรถยนต์ให้แก่ผู้มาใช้บริการ โดยมีพนักงานจดหมายเลขทะเบียนรถยนต์ลงในบัตรจอด มอบให้ผู้มาใช้บริการที่นำรถยนต์เข้ามาจอด และมีพนักงานตรวจหมายเลขทะเบียนในบัตรจอดให้ตรงกันตอนขาออก เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการ

ถือว่าโรงแรมมีหน้าที่ต้องระมัดระวังในการตรวจสอบผู้นำรถยนต์ออกจากที่จอดด้วย แม้ว่าบริเวณที่จอดของโรงแรมจะมีการปิดป้ายประกาศไว้ว่า “ไม่รับผิดชอบในทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการที่สูญหาย” ก็ตาม ถือว่าไม่ใช่ข้อความที่ผู้มาใช้บริการซึ่งในที่นี้คือวิรัช ได้ตกลงด้วย โรงแรมจึงไม่ได้รับการยกเว้นให้พ้นความรับผิดชอบ

Car-Lost-In-Car-Park

เมื่อพนักงานโรงแรมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจหมายเลขทะเบียนบนบัตรจอดของผู้มาใช้บริการตอนขาออก แต่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง โดยงดเว้นไม่ตรวจบัตรตอนคนร้ายขับรถยนต์ของวิรัชออกไป อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของวิรัชถูกลักไป และเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้วิรัชได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สิน

จึงเป็นการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และการที่พนักงานโรงแรมทำละเมิดต่อวิรัช ถือว่าพนักงานโรงแรมได้กระทำไปในทางการที่จ้างของโรงแรม

ดังนั้นโรงแรมในฐานะนายจ้าง จึงต้องร่วมรับผิดกับพนักงานโรงแรมซึ่งเป็นลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425

เจ้าของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายหรือสูญหาย ต้องฟ้องเรื่องการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงจะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้

แหล่งที่มาจาก:

  • คุณ ศราวุธ สายเชื้อ จากนิตยสารไทยไดรฟ์เวอร์