10-สัญญาณเตือน-ว่าคุณควรเปลี่ยนยางได้แล้ว

 

ยางรถยนต์ที่ดี ถือเป็นอีกหัวใจหนึ่งของการขับขี่ให้ปลอดภัย และช่วยให้เราไปถึงจุดมุ่งหมายได้ตามต้องการ เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้ลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากยางรถยนต์ เช่น ยางเกิดการเสื่อมสภาพจนระเบิด จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ได้ให้ข้อแนะนำที่น่าสนใจ แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนเกี่ยวกับเรื่องของยางรถยนต์ ดังนี้

ลักษณะของยางรถยนต์ที่เสื่อมสภาพ

จะมีเนื้อยางแข็งกระด้าง ไม่ยืดหยุ่น แรงดันลมยางอ่อนกว่าค่าที่กำหนด ส่งผลให้รถมีอาการสั่น ควบคุมและบังคับทิศทางได้ยากกว่าปกติ

10 สัญญาณชี้ที่คุณควร “เปลี่ยนยาง” ได้แล้ว!

  1. ยางมีความร้อนสูง จากการบรรทุกน้ำหนักหรือของบนรถมากเกินไป ทำให้หน้ายางบิดตัวและสัมผัสพื้นผิวถนนมากกว่าปกติ ทำให้ยางร้อนได้ง่าย
  2. ดอกยางสึกหรอ จอดรถอยู่กับที่เป็นเวลานาน เป็นสาเหตุของการที่หน้ายางสัมผัสพื้นถนนมากเกินไป จนเกิดการสึกหรอได้
  3. ยางมีรอยปริแตก สาเหตุเกิดจากจอดรถกลางแดดเป็นเวลานาน รังสียูวีจะทำให้น้ำมันและสารเคมีในยางเสื่อมสภาพ ส่งผลให้เกิดรอยแตกที่เนื้อยาง
  4. มีเสียงดังแปลกๆ เช่น เสียงหอนของยาง มักเกิดจากหน้ายางสึกหรอไม่เท่ากัน หรือขณะขับรถเกิดเสียง ปัง ปัง คล้ายยางแตกและรถมีอาการกระตุก อาจเกิดจากลูกปืนล้อแตกค่ะ
  5. รู้สึกสั่นสะเทือนผิดปกติ หากคุณเริ่มสังเกตเห็นการสั่นสะเทือนมากขึ้นกว่าปกติผ่านล้อของคุณ อาจเป็นเพราะเกิดช่องว่างระหว่าง ดุมล้อ กับ ล้อแม็ก หรือเกิดจากตัวยางที่เสื่อมสภาพบิดเบี้ยวไม่สมดุล และชุดขับเคลื่อนช่วงล่างหลวม
  6. รถไถลไปข้างใดข้างหนึ่งขณะที่ปล่อยพวงมาลัย สาเหตุเกิดได้ทั้งจากยาง ศูนย์ล้อ เพลงล้อ และลูกหมาก ทางที่ดีควรเอารถเข้าศูนย์แล้วให้ศูนย์เช็กค่ะ
  7. การสึกหรอของยางไม่สม่ำเสมอ เกิดจากการพองตัวของยางที่ร้อนเกินไป จะทำให้มีการสึกหรอที่ด้านในของดอกยางมากกว่ารอบขอบ
  8. ลมยางอ่อนเร็วผิดปกติ อย่าชะล่าใจนะค่ะ เพราะอาจถึงขั้นยางระเบิดได้ทีเดียว ลองดูที่หน้ายางว่ามีอะไรตำยางอยู่หรือไม่
  9. รถแฉลบ ตอนที่ลุยแอ่งน้ำตื้นๆ กรณีนี้อาจเกิดจากดอกยางตื้นกว่ามาตรฐานหรือดอกยางหมด ควรดูที่สะพานยาง ภ้าช่องของดอกยางนั้นเสมอเท่ากับสะพานยาง แสดงว่าดอกยางของเรานั้นตื้นเกินไป
  10. ไม่ได้เปลี่ยนยางมานานกว่า 5 ปี

10-สัญญาณเตือน-ว่าคุณควรเปลี่ยนยางได้แล้ว

วิธีถนอมยางรถยนต์ให้อยู่กับเราไปนานๆ

  • เลือกใช้ยางที่มีขนาดพอดีกับเส้นรอบวงของยาง โดยมีขนาดใกล้เคียงกับมาตรฐานเดิม หรือขนาดของล้อแม็ก หากเปลี่ยนเป็นล้อเล็ก ให้เพิ่มขนาดแก้มยาง แต่หากเป็นล้อใหญ่ ให้ลดขนาดแก้มยาง
  • กรณีใช้งานบนถนนเรียบ ควรใช้ยาง ที่มีดอกยางละเอียด ร่องยางแคบและถี่ เพื่อเพิ่มพื้นผิวสัมผัสกับหน้าถนน จะช่วยยึดเกาะถนน และมีประสิทธิภาพในการรีดน้ำมากขึ้น
  • กรณีใช้งานบนถนนขรุขระ หรือลุยโคลน ควรใช้ยางที่มีดอกยางขนาดใหญ่ และร่องยางห่าง เพื่อช่วยสลัดโคลน หิน หรือน้ำไม่ให้เข้าไปติดตามดอกยาง และร่องยาง
  • หมั่นตรวจสอบแรงดันลมยางอยู่เสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือประมาณเดือนละครั้ง กรณีเดินทางไกล ควรเติมลมยางให้มากกว่าปกติ 3 – 5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
  • ตรวจสอบแรงดันลมยางด้วยเกจ์วัดลมที่ได้มาตรฐาน ไม่ควรตรวจสอบด้วยสายตา เพราะอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้
  • เติมแรงดันลมยางอะไหล่ให้พร้อมใช้งาน ลมยางมากกว่ามาตรฐาน 3 – 4 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้นำมาใช้งานได้ทันที โดยลดค่าแรงดันลมยางให้อยู่ในค่าปกติ เติมแรงดันลมยางตามค่ามาตรฐานที่กำหนดในขณะที่ยางเย็นตัว จะได้ค่าแรงดันลมยางที่ถูกต้อง (หากเติมหลังขับรถหรือในขณะที่ยางยังมีความร้อน จะได้ค่าแรงดันลมยางสูงกว่าปกติ)
  • ไม่เติมแรงดันลมยางต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะหน้ายางจะยุบตัว และสัมผัสพื้นผิวถนนมากกว่าปกติ ทำให้แก้มยางฉีกขาด ไหล่ยางเกิดความร้อนสูง และสึกหรอเร็วกว่าส่วนอื่น
  • สลับยางรถยนต์ทุกระยะทาง 10,000 กิโลเมตร จะช่วยลดการสึกหรอ และทำให้หน้ายางเรียบเสมอกันทั้ง 4 เส้น พร้อมปรับแรงดันลมยางของล้อหน้า และล้อหลังให้มีค่ามาตรฐานตามที่กำหนด
  • หมั่นตรวจสอบระบบช่วงล่าง และตั้งศูนย์ถ่วงล้อให้สมดุล เพื่อป้องกันแรงเสียดทาน และการลื่นไถล รวมถึงการกระจายน้ำหนักที่ไม่สมดุล ทำให้ยางได้รับความเสียหายได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก GoBear