King-Rama-5-Royal-Cars

23 ตุลาคม ปิยมหาราชรำลึก

Rama-5-Opening-of-the-Railway-Line

วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติ และเป็นวันที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เป็นวันระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงประชวรและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ปวงชนชนทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ จึงได้ถวายพระนามว่า “พระปิยมหาราช” หรือ “พระพุทธเจ้าหลวง”

และเป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงประเทศสยามให้มีความทันสมัยขึ้นอย่างมากมาย ทั้งในด้านไฟฟ้า ประปา ไปรษณีย์ การสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ระหว่างกรุงเทพฯ และนครราชสีมา การสร้างสะพาน ขุดคลอง ตัดถนน การพยาบาล การแพทย์ ฯลฯ

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

ย้อนกลับไปในปี 2444 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงประชวรต้องเสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะประทับรักษาพระองค์ ณ ที่นั้น ได้ทรงสั่งซื้อรถยนต์คันหนึ่ง เป็นรถเดมเลอร์เบนซ์ ซึ่งถือเป็นรถชั้นเยี่ยมที่สุดขณะนั้น

ทรงซื้อรถคันดังกล่าวจากมองซิเออร์ เอมีเล เจลลีเนค (Emil Jellinek) ผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถเดมเลอร์เบนซ์ในประเทศฝรั่งเศส ต่อมาภายหลังรถยนต์เดมเลอร์เบนซ์ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “เมอร์เซเดส-เบนซ์” (Mercedes-Benz) อันโด่งดังในปัจจุบัน

CARRO Automall แหล่งรวมรถมือสองคุณภาพเยี่ยม ผ่านการตรวจสภาพแบบ Double Check รับประกันพร้อมโอนทุกคัน

Mercedes-Benz-Rama-5

จากบันทึกห้องสมุดที่รวบรวมประวัติศาสตร์เก่าแก่ของ Mercedes-Benz Classic Center ณ เมืองสตุ๊ตการ์ด ประเทศเยอรมนี พบว่า มีการสั่งรถเมอร์เซเดส-เบนซ์คันแรก จากสถานทูตไทยกรุงปารีส (Ambassador of Siam in Paris, Avenue de Eglau from the “Automobile-Union Paris”, 39. Avenue des Champs Elysees) โดยรถได้ถูกส่งมาถึงเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 1904 (ปี 2447) เป็นรถยนต์รุ่น 28 แรงม้า 4 สูบ เครื่องยนต์ 35 แรงม้า หมายเลขแชสซีส์ คือ 2397 และหมายเลขเครื่องยนต์คือ 4290

ในขณะนั้น กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเร่งการประกอบรถยนต์แทบทุกวัน พอรถเสร็จก็ทรงว่าจ้างคนขับชาวอังกฤษขับรถคันนั้นพาพระองค์ท่าน พร้อมด้วย ม.จ. อมรทัต กฤดากร หลวงสฤษดิ์สุทธิวิจารณ์ (ม.ร.ว. ถัด ชุมสาย) ตระเวนทั่วยุโรปภาคกลางเป็นการทดลองเครื่อง แล้ววนกลับไปยังปารีส

เมื่อเสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ เสด็จกลับถึงเมืองไทย ก็ได้ทรงนำรถคันนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก รถยนต์คันนี้คือรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่สารถีคือ เสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ นั่นเอง

Mercedes-Benz-28Hp

ในปีต่อมา ได้มีการสั่งรถเมอร์เซเดส-เบนซ์เข้ามาอีก และได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ แบบ 28 แรงม้า ปี 1905 ทำความเร็วได้ 73 กม./ชม. แด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในสยาม ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า “แก้วจักรพรรดิ” ในทำนองเดียวกันกับโบราณราชประเพณีที่มีการพระราชทานนามแก่ช้างเผือกคู่บารมี โดยชื่อของรถยนต์พระที่นั่งคันนี้ มีความหมายว่า เป็นประดุจหนึ่งในแก้วเจ็ดประการอันเป็นของคู่พระบารมีแห่งองค์ราชันย์

รถพระที่นั่งคันนี้เกือบเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ เมื่อมาถึงคณะกรรมการตรวจรับช่วยกันเติมน้ำมันเบนซินใส่ถัง โดยไม่มีใครสังเกตเห็นละอองน้ำมันลอยฟุ้งไปถึงตะเกียงรั้ว ซึ่งแขกยามแขวนไว้ในโรงม้าที่อยู่ใกล้ๆ กว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อน้ำมันเบนซินในปี๊บ ลุกเป็นไฟอย่างฉับพลัน ต้องช่วยกันใช้ฟ่อนหญ้าสำหรับม้ากินฟาดดับไฟ แขกโรงม้าต้องวิ่งไปเอาถังน้ำมาช่วยดับอีกแรง ทุกคนต้องอกสั่นขวัญแขวนเมื่อตรวจพบว่าเปลวไฟลวกสีรถเกรียมไปแถบหนึ่ง บานประตูใช้ไม่ได้อีกข้างหนึ่ง

ผู้รับผิดชอบที่นำข่าวร้ายไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงราชบุรีฯ ขณะที่ทรงประทับอยู่ที่สวนอัมพร ทรงนิ่งอึ้งชั่วครู่ ก่อนที่รับสั่งให้ซ่อมแซมความเสียหาย 2-3 สัปดาห์ต่อมา รถซ่อมเสร็จ คณะกรรมการจึงนำรถมาถวายให้ทอดพระเนตรพระองค์ขึ้นประทับ และทรงลองขับดูชั่วครู่ ทรงรู้สึกว่าต้องพระราชหฤทัย

พระองค์ได้ทรงพระราชทานนามแก่รถยนต์พระที่นั่งคันนี้ว่า “แก้วจักรพรรดิ” รถยนต์พระที่นั่งคันนี้พระองค์ทรงโปรดปรานมาก และก็ได้รับใช้พระองค์ท่านอย่างซื่อสัตย์เป็นเวลาหลายปี

Mercedes-Benz

ในปี 2451 วาระเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 56 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะสั่งซื้อรถยนต์ มาเป็นของขวัญพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นสูง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์แก่แผ่นดินสืบไป

ในการนี้ทรงโปรดเกล้าให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สั่งซื้อจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน 10 คัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามแก่รถยนต์เหล่านี้แต่ละคัน ในลักษณะเดียวกับที่พระราชทานนามแก่ช้าง เพื่อแสดงถึงฐานะและความมั่งมี เช่น แก้วจักรพรรดิ มณีรัตนา ทัดมารุต ไอยราพต กังหัน ราชอนุยันต์ สละสลวย กระสวยทอง ลำลองทัพ พรายพยนต์ กลกำบัง สุวรรณมุขี

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

  • หนังสือราชยานยนต์หลวงโบราณแห่งสยาม ของสมาคมรถโบราณลุฟท์ฮันซ่า-คาสตรอล
  • หนังสือ Silver Star Chronicle 100 Year Mercedes-Benz Thailand
  • ตำนานดาวสามแฉกในกรุงสยาม mercedes-benz.co.th