หลายคนเคยได้ยินว่ามนุษย์เงินเดือนที่ทำงานออฟฟิศ ต้องนั่งกับโต๊ะและใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มีความเจ็บป่วยชนิดหนึ่งเกิดขึ้นซึ่งทำให้คนเหล่านั้นทรมานจนบางคนถึงกับทำงานไม่ได้อีกเลย เรากำลังพูดถึงโรคออฟฟิศซินโดรม และใครว่าโรคออฟฟิศซินโดรม อาการเกิดขึ้นได้เฉพาะที่ออฟฟิศเท่านั้นล่ะ? จริง ๆ มันเกิดขึ้นได้ทุกที่แม้แต่ที่บ้านของเรา
ใช่แล้ว.. เรากำลังพูดถึง การทำงานที่บ้านแบบ “Work from home” เพราะการต้องทำงานที่บ้านนาน ๆ ก็เป็นบ่อเกิดของโรคออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน รู้ใจเป็นห่วงชาวออฟฟิศทุกคนที่ต้องนั่งทำงานที่บ้านที่ทั้งเครียดและเงียบเหงา เราจึงอยากพามาเรียนรู้วิธีการทำงานที่บ้านแบบ Work from home ให้ดีต่อสุขภาพและไม่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมกัน จะเป็นอย่างไร ตามไปดูกันเลย!
โรคออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?
นิยามของโรคออฟฟิศซินโดรมก็คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด รวมทั้งการปวดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น ปวดชาปลายประสาทที่เกิดจากการกดทับ ซึ่งสาเหตุมาจากการนั่งหรืออยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดกับผู้ป่วยที่ต้องนั่งโต๊ะทำงานเป็นเวลานาน ๆ ต่อวัน
การนั่งที่ทำให้เกิดการกดทับทั้งหลัง ขา แขน และข้อมือ เช่น การใช้คีย์บอร์ดหรือเมาส์ สภาวะทำงานที่มีแสงน้อยหรือรับแสงจากจอในปริมาณมากเกินไปจนเกินความเจ็บปวดกับปลายประสาทในร่างกาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้มีอาการตามมา การปวดตามร่างข้อ เส้นเอ็นในร่างกาย ตาพร่ามัว ปวดหัว จนไปถึงอาการรุนแรง เช่น การวูบ หูอื้อ มึนงง ชา แม้อาการป่วยจะไม่ถึงแก่ชีวิต แต่ก็ทำให้ระบบในร่างกายผิดปกติ และอาจจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดแบบเรื้อรัง ทนทรมานไปตลอดชีวิต อีกทั้งมันยังส่งผลต่อสภาพจิตได้ด้วยอีกต่างหาก
Checklist โรคออฟฟิศซินโดรม อาการเป็นอย่างไร?
ถึงแม้จะเป็นการทำงานที่บ้าน แต่ลักษณะการทำงานของหลายคนก็ยังเหมือนการนั่งทำงานอยู่ออฟฟิศอยู่ดี ดังนั้นถ้าคุณมีอาการตามลักษณะต่อไปนี้ ต่อให้ทำงานที่บ้านแบบ Work from home คุณก็ยังมีความเสี่ยง
• นั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน
• ระหว่างนั่งทำงานคุณจะรู้สึกปวดเมื่อยต้นคอ ไหล่ หลัง เอว อยู่เสมอ
• หลังทำงานคุณจะรู้สึกปวดเมื่อยจนต้องกินยาแก้ปวด หรือบางครั้งต้องไปนวดเพื่อให้หายปวด
• บางครั้งคุณจะรู้สึกตาพร่ามัว อ่านตัวหนังสือที่หน้าจอคอมไม่ชัด
ถ้าคำตอบของคุณส่วนใหญ่คือใช่ ก็เป็นไปได้ว่าคุณกำลังเข้าข่ายที่จะป่วยด้วยโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งสิ่งแรกที่ควรจะทำก็คือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่ออาการป่วย เช่น การนั่งทำงานเป็นเวลานาน การจ้องจอคอมพิวเตอร์มากเกินไป หรือการไม่ค่อยออกกำลังกายของคุณ
นั่งทำงานที่บ้านให้ปลอดภัย ป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม
โรคออฟฟิศซินโดรม อาการอักเสบของกล้ามเนื้อ และส่วนต่าง ๆ ที่เกิดจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน การทำงานที่บ้านน่าจะช่วยให้การเกิดอาการปวดโรคออฟฟิศซินโดรมน้อยลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ดังนี้
- ยืดเส้นยืดสาย เปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ การทำงานที่บ้านก็มีข้อดีที่เราจำเป็นต้องประจำอยู่ที่โต๊ะทำงานอยู่เสมอ แค่มีคอมพิวเตอร์แบบแล็ปท็อปก็สามารถย้ายไปนั่งทำงานที่ส่วนอื่น ๆ ของบ้านได้สบาย ๆ เพราะอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมมีสาเหตุหนึ่งก็คือ การนั่งทำงานด้วยท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ทางที่ดีเราควรขยับขึ้นมายืดเส้นยืดสายหรือย้ายที่ทำงานไปที่โซฟา หรือไปนอนทำงานบนเตียงก็ได้
- ปรับการนั่งให้เหมาะกับสรีระ ซึ่งสำหรับคนที่จำเป็นต้องนั่งที่โต๊ะทำงานไม่สามารถย้ายได้ และบางงานจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง ไม่สามารถลุกไปยืดเส้นยืดสายได้บ่อย สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการปรับที่นั่งให้เหมาะกับสรีระ ท่านั่งควรจะไปข้างหลังเล็กน้อยให้หลังมีส่วนช่วยรับน้ำหนัก ไม่ให้น้ำหนักกดทับไปที่ใดที่หนึ่ง ไม่ควรนั่งหลังงอมันจะทำให้หลังรับน้ำหนักมากเกินไป ความสูงของโต๊ะควรจะพอดีกับระดับแขนให้การวางแขนลงบนโต๊ะหรือคอมพิวเตอร์ สามารถวางแขนได้พอดีไม่ห่างกันมากไป ถ้าสูงไปไหล่จะต้องรับน้ำหนัก แต่ถ้าน้อยไปกลับเป็นข้อมือที่รับน้ำหนักเพียงอย่างเดียว ให้หาระยะห่างของความสูงที่สมดุล
- ใช้หูฟังช่วยในการทำงาน เพราะการทำงานบางชนิดก็จำเป็นจะต้องใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อพูดคุย การใช้เป็นเวลานานต่อเนื่องก็ทำให้ร่างกายส่วนที่เกี่ยวข้องต้องรับภาะหนัก เช่น ข้อมือ สายตา หรือหูที่ต้องแนบกับโทรศัพท์ ดังนั้นหาหูฟังที่ช่วยให้ไม่ต้องถือโทรศัพท์และเอาโทรศัพท์แนบหู หากรู้สึกว่าจ้องจอโทรศัพท์นานเกินไปก็ต้องหาเวลาพักบ้าง
- พักสายตาทุก 20 นาที เป็นเวลาที่เหมาะสมในการใช้อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดทำงานเป็นเวลานาน ๆ การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน ทุก ๆ 20 นาที ควรพักสายตาออกจากจอคอมพิวเตอร์ หาที่สบายตามองเพื่อปรับสายตา มองต้นไม้เขียว ๆ หรือหลับตาสักพักก็ได้เพื่อให้ระบบประสาทตาไม่เครียดมากเกินไป
- ออกกำลังกาย หลังการทำงานในทุกวัน ควรจะออกกำลังกาย เพราะเมื่อเรานั่งทำงานในออฟฟิศ ทุก ๆ วันการเดินทางกลับบ้านก็ยังมีระยะให้เราเดินให้ร่างกายได้ขยับ แต่การทำงานที่บ้าน ระยะห่างระหว่างโต๊ะทำงานกับเตียงนอนอาจจะใกล้เกินไป แนะนำว่าอย่าเพิ่งพุ่งตัวลงที่นอน ควรหาเวลาออกกำลังกาย เช่น ออกไปเดิน ไปวิ่ง หรือถ้าออกจากบ้านไม่ได้ก็บอดี้เวทหรือทำงานบ้านก็เป็นทางเลือกที่ดี
โรคออฟฟิศซินโดรม รักษายังไง?
โรคออฟฟิศซินโดรม อาการป่วยที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้นความเจ็บป่วยจึงเกิดขึ้นพร้อมกันหลาย ๆ ระบบ ทั้งกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ระบบประสาท ซึ่งจะรักษาทางใดทางหนึ่งไม่ได้ ต้องอาศัยการวิเคราะห์ถึงสาเหตุและรักษาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะวางแผนการรักษาจากหลายวิธีด้วยกัน เพราะการรักษาจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่หลากหลายถึงจะรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามากระตุ้นระบบประสาทเพื่อบรรเทาอาการปวด อาการชา และการอักเสบจากการทำงานที่ผิดปกติของปลายประสาท
- คลื่นกระแทกช็อกเวฟ เป็นการใช้คลื่นกระแทกลงไปบนกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดจากโรคออฟฟิศซินโดรม เพื่อช่วยลดอาการปวดและกระตุ้นให้เนื้อเยื่อซ่อมแซมตัวเอง ใช้ในกรณีที่มีอาการปวดเรื้อรังของระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและกระดูก
- การรักษาด้วยการจัดกระดูกสันหลัง ใช้เตียงจัดกระดูกสันหลังซึ่งปัจจุบันสามารถจัดกระดูกสันหลังได้แบบสามมิติ เพื่อจัดกระดูกสันหลังที่คดงอให้เข้าที่ เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาการปวดหลังจากการทำงานหนักเป็นเวลานานจนแนวกระดูกสันหลังเคลื่อน
- การรักษาด้วยความเย็นจัด เป็นการใช้ความเย็นประมาณ -110 องศา เพื่อกระตุ้นให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายตอบสนองต่อความเย็น และปรับตัวสู้กับความเจ็บป่วยและความเครียด
โรคออฟฟิศซินโดรม อาจจะเป็นโรคที่ไม่ได้ร้ายแรงถึงชีวิตก็จริง แต่มันก็เป็นโรคที่ทำให้เจ็บปวดทรมานทางร่างกายและยังส่งผลต่อสุขภาพจิต แนวทางการรักษาก็เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตสักหน่อย ไม่ให้กล้ามเนื้อหรืออวัยวะอื่นใดทำงานในแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ มากเกินไป ไม่ว่าจะทำงานอยู่ออฟฟิศ ทำงานที่บ้าน หรือที่ใดก็ตาม เราควรปรับการใช้ชีวิตให้มีการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก 20 นาที รวมไปถึงเรื่องการพักผ่อนจากงานเป็นระยะก็สำคัญด้วยเช่นกัน
และหากพบว่าร่างกายมีอาการปวด ชา ตามปลายประสาท จนน่าสงสัยว่าตัวเองจะเข้าข่ายอาการของ “โรคออฟฟิศซินโดรม” ก็ควรจะเริ่มหันมา ดูแลสุขภาพตัวเอง อย่าปล่อยปละละเลยจนอาการปวดเรื้อรังรักษาไม่หายแก้ไม่ได้ ถ้าหากเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วก็ยังไม่หายจริง ๆ ก็ถึงเวลาที่ต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วแหละ
รู้ใจเป็นห่วงทุกคนที่จะต้องเผชิญทั้งการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์โรคระบาดจนต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตปกติ ถึงแม้รอดพ้นจากโรคระบาด ก็ยังต้องเสี่ยงเผชิญกับโรคออฟฟิศซินโดรมอีก และหากคุณคิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งคนที่อยู่ในความเสี่ยงของโรคนี้และกังวลเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลที่ไม่แน่นอน คุณสามารถมองหาประกันสุขภาพที่จะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลได้แบบทั่วถึง รู้ใจกว่า ประหยัดกว่า ต้องที่รู้ใจ ประกันออนไลน์ เช็คราคาประกันออนไลน์ได้ใน 60 วิ ประหยัดสูงสุด 30% ซื้อง่ายใน 3 นาที ดูข้อมูลประกันภัยต่าง ๆ ได้เลย
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและโปรโมชั่นใหม่ ๆ จากเราได้ทาง FB Fan page: Roojai หรือ คลิก add Official Line ของเราไว้ได้เช่นกัน